ส่งออกไทยเดือน ต.ค. ฟื้นกลับมาขยายตัวที่ 8.7% แต่ภาพรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัว

21 พ.ย. 2561 | 15:41 น.
Key point

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ต.ค. กลับมาขยายตัวที่ 8.7%YOY หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -5.2%YOY โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้าซึ่งปรับตัวดีขึ้น

หมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดีขึ้น สินค้าอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปซึ่งขยายตัวสูงในเดือนนี้ที่ 240.8%YOY สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย และผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสินค้าหมวดเกษตร คือ ข้าว และปศุสัตว์ ส่งผลให้ทั้งหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2%YOY (ขยายตัว 0.1%YOY ในเดือนก่อนหน้า)

หมวดสินค้าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เช่น รถยนต์นั่ง รถปิคอัพ รถบัสและรถบรรทุก แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เช่นเดียวกันกับ ยางพาราที่หดตัวมาเป็นเวลา 10 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ช่วงต้นปี

595959859 ทั้งนี้ การส่งออกในภาพรวมในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 8.2%YOY ทั้งนี้ หากไม่รวมทองคำ การส่งออกในช่วงดังกล่าวจะขยายตัวที่ 7.3%YOY

การส่งออกไทยกลับมาขยายตัวในหลายตลาดคู่ค้าสำคัญ นำโดยการปรับตัวที่ดีขึ้นของมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ASEAN-5 และ CLMV ขยายตัวที่ 7.2%YOY 18.7%YOY  24.4%YOY และ 18.2%YOY เร่งขึ้นจากการขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ 1.2%YOY 0.2%YOY 0.9%YOY และ 17.5%YOY ตามลำดับ โดยเฉพาะจีนที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 3.0%YOY จากการหดตัวสูงในเดือนก่อนหน้าที่ -14.1%YOY โดยเป็นการเร่งขึ้นที่นำโดยสินค้าส่งออกในหมวดอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก และหมวดสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และผลไม้สด-แช่เย็น-แช่แข็งและผลไม้แห้ง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลียยังคงหดตัวที่ -2.0%YOY แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ -19.3%YOY โดยเป็นการหดตัวจากการส่งออกรถยนต์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหภาพยุโรปกลับมาที่หดตัว -4.1%YOY จากการขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ 3.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า นำโดยหดตัวในหมวดสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าเป็นสำคัญ

มาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังคงส่งผลกระทบในบางรายการอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าสินค้าส่งออกที่ถูกตั้งเก็บภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม หดตัวที่ -73.0%YOY และ -93.7%YOY ตามลำดับ ต่อเนื่องจากการหดตัวในเดือนก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มดังกล่าวในภาพรวมทุกตลาดส่งออกหดตัวที่ -35.3%YOY และ -40.2%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกเหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐฯ ในเดือนนี้ขยายตัวที่ 49.6%YOY ทำให้ภาพรวมทุกตลาดส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นที่ 17.1%YOY จากการขยายตัวที่ 4.4%YOY ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ยังขยายตัวได้ดีทั้งการส่งออกในภาพรวม และไปยังสหรัฐฯ ที่ 14.5%YOY และ 61.9%YOY ตามลำดับ

สินค้าที่เข้าข่ายถูกกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนหดตัวเป็นเดือนที่ 2 โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในหมวดแผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งคาดว่าบางส่วนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ ไปแล้วในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มีการหดตัวที่ -38.4%YOY และ -17.2%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกไทยไปจีน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ เช่นกันยังคงสามารถขยายตัวได้ดี

มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ 11.2%YOY เร่งขึ้นจากการเติบโตที่ 9.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า นำโดยสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 13.4%YOY และ 19.2%YOY จากการขยายตัวที่ 11.5%YOY และ 4.5%YOY ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ ขณะที่สินค้าทุน และยานพาหนะและการขนส่งกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ที่ 1.5%YOY และ 16.4%YOY ตามลำดับ จากหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -5.8%YOY และ -2.3%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเติบโตชะลอลงที่ 21.1%YOY จากการเติบโตที่ 50.5%YOY ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตที่ 14.8%YOY

Implication

การส่งออกสินค้าของไทยและหลายประเทศในเอเชียกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ หลังจากชะลอ-หดตัวในเดือนก่อนหน้าสะท้อนความคลี่คลายของปัจจัยลบชั่วคราว โดยมูลค่าสินค้าส่งออกไทยที่พลิกกลับมาขยายตัวในเดือนนี้ สอดคล้องกับทิศทางมูลค่าการส่งออกของหลายประเทศในเอเชียในเดือนเดียวกันที่มีสัญญาณดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยขยายตัวที่ 15.0%YOY 8.2%YOY 7.0%YOY 22.7%YOY 10.8%YOY และ 15.6%YOY ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวที่ 14.4%YOY -1.3%YOY 2.0%YOY -8.2%YOY 9.5%YOY และ 10.4%YOY ตามลำดับ สะท้อนการคลี่คลายลงของปัจจัยลบชั่วคราวในเรื่องสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าที่กระทบกับการส่งออกในเอเชียในเดือนที่ผ่านมา

อีไอซีปรับลดประมาณการการเติบโตของการส่งออกไทยปี 2018 เป็นขยายตัวที่ 7.5% จากเดิมที่ 8.5% โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แม้ว่าการหดตัวในเดือนกันยายนส่วนหนึ่งเป็นมาจากปัจจัยชั่วคราวด้านสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้า แต่เมื่อรวมมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกันยายนและตุลาคมเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าแล้ว พบว่า มีการขยายตัวเพียง 1.5%YOY เท่านั้น (หรือขยายตัว 3.2%YOY แบบหักทองคำ) ซึ่งหมายความว่าตัวเลขยังค่อนข้างสะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอลงของการส่งออกไทยตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมไปถึงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และผลทางอ้อมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของ 21 วันแรกในเดือนพฤศจิกายนเฉลี่ยอยู่ที่ 67.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล คิดเป็นการขยายตัว ที่ 8.9%YOY ชะลอลงจากขยายตัวในเดือนตุลาคมที่ 39.7%YOY (ราคาเฉลี่ยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 80.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)

อีไอซีปรับลดประมาณการการเติบโตของการนำเข้าของไทยปี 2018 ขยายตัวที่ 13% จากเดิมที่ 15% โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีการนำเข้าในส่วนของสินค้าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ที่มา : Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ โปรโมทแทรกอีบุ๊ก