อบต. รายได้วูบ! จี้รื้อ "ภาษีที่ดิน"

21 พ.ย. 2561 | 11:57 น.
211161-1846

สนช. ผ่านแล้วกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ ที่เกษตร-บ้านพักไม่เกิน 50 ล้านบาทรอด ลดเพดานอัตราจัดเก็บลงกว่า 40% แถมบทเฉพาะกาลเปิดช่องบรรเทาอื้อ นักวิชาการหวั่นท้องถิ่นรายได้ไม่พอ จี้รัฐบาลใหม่ทบทวน

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เมื่อเที่ยงวันศุกร์ที่ 16 พ.ย. 2561 ต่อเนื่องจากวันก่อนหน้าที่พิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยเห็นชอบตามร่างของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ได้ปรับแก้จากที่ ครม. เสนอหลายมาตรา และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ใช้เวลาพิจารณาเกือบ 20 เดือน ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2560 จนมีข่าวจะไม่ทัน สนช.ชุดนี้


org_9606075282

กฎหมายภาษีที่ดินฯ ใหม่ นับเป็นกฎหมายภาษีจากฐานทรัพย์สิน ฉบับที่ 2 ต่อจากภาษีมรดก ที่สามารถผ่านขั้นตอนออกมาเป็นกฎหมายสำเร็จ ทั้งที่มีกระแสเรียกร้องหลายสิบปี และผลักดันมาหลายครั้งแต่ล้มไปก่อน มีสาระสำคัญ คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเป็นรายได้ แทนกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เดิม โดยแบ่งลักษณะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 4 ประเภท คือ ที่พักอาศัย เพื่อทำเกษตร เพื่อประโยชน์อื่น (พาณิชย์-อุตสาหกรรม) และที่รกร้างไม่ใช้ทำประโยชน์ ที่จะคิดอัตราภาษีทวีคูณ เพื่อให้เกิดการทำประโยชน์เต็มศักยภาพ และช่วยกระจายการถือครองที่ดินสู่รายย่อย

การพิจารณาในชั้น สนช. มีการปรับแก้หลายมาตรา อาทิ ปรับลดเพดานอัตราจัดเก็บภาษีลง โดยเฉลี่ยถึง 40% อ้างเพื่อลดผลกระทบและภาระประชาชน เพิ่มการยกเว้นที่พักอาศัยและที่เกษตรมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี โดยมีความเห็นแตกต่าง ทั้งที่เห็นว่าควรเก็บทุกแปลง หรือ ยกเว้นที่มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท เพราะยิ่งยกเว้นในมูลค่ายิ่งสูงขึ้น ยิ่งมีฐานภาษีลดลง และไม่ตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำ


e3182edaf124f376d11495c162e98b28

รวมทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังจัดทำบทเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน กำหนดอัตราการจัดเก็บทั้ง 4 ประเภท โดยที่ดินเพื่อการเกษตรของบุคคลธรรมดา ส่วนเกินจาก 50 ล้านบาท เสียภาษีอัตรา 1 ล้านบาทต่อภาษี 100 บาท และเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได โดยยกเว้นภาษี 3 ปีแรก ส่วนที่นิติบุคคลเริ่มเก็บทันที ส่วนที่เพื่อการพักอาศัยส่วนเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท ส่วนบ้านหลังที่สองเสียตั้งแต่บาทแรกในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรม จัดเก็บในอัตราเริ่มที่ 1 ล้านบาทต่อ 3,000 บาท และปรับเพิ่มอัตราเป็นขั้นบันไดตามมูลค่า สูงสุดอัตราไม่เกิน 0.7% ส่วนกิจการโรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟ สถานศึกษาเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า เก็บในอัตราตั้งแต่ 0.3% ของราคาประเมิน และทุก 3 ปี ต้องเสียเพิ่ม 0.2-0.3% จนถึงสูงสุดไม่เกิน 3% จากร่างเดิมสูงสุดไม่เกิน 5%


fcd98f063a24506376a33ff5e57fe9f2

นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบ บทเฉพาะกาลยังระบุให้ใน 3 ปีแรก ถ้ามีภาระภาษีตามกฎหมายใหม่สูงกว่าภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เดิม ให้ปีที่ 1 ชำระภาษีเท่ากับภาระภาษีที่เหลือ ปีที่ 2 ปรับเพิ่มส่วนของภาระภาษีที่เหลือเป็น 50% และเพิ่มเป็น 75% ในปีที่ 3

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวขอบคุณ สนช. ที่ผ่านความเห็นชอบ และย้ำว่า กฎหมายภาษีที่ดินใหม่จะสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจประเทศและโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินจะสอดคล้องกับสากล อุดช่องโหว่ของภาษีเดิม เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ท้องถิ่นมีรายได้ไปพัฒนาพื้นที่ และสร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในพื้นที่


1389669639-1

พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบุว่า กมธ. เกรงว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากภาษีนี้ จึงกำหนดเพดานมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นให้สูง โดยเฉพาะบ้านและที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี และมีบทเฉพาะกาลบรรเทาความเดือดร้อน สามารถผ่อนชำระได้นาน 4 ปี กรณีมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาท เป็นต้น ประเมินว่า ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มจากภาษีตัวใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ด้านมุมสะท้อนนักวิชาการ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การผ่านร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผลักดันออกมา ถือเป็นการตั้งต้นหรือการสร้างมาตรฐานใหม่ โดยใช้ราคาประเมินที่ดินจากกรมธนารักษ์เป็นเกณฑ์ และยกเลิกการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน แต่การกำหนดรายละเอียดของกฎหมายกลับบิดเบี้ยวไปจากข้อเท็จจริง มีการยกเว้นที่สูงเกินไป ทั้งที่ดินเกษตรและบ้านอยู่อาศัยมูลค่า 50 ล้านบาท อีกทั้งการลดหย่อนมากถึง 90% สำหรับรายที่อยู่ในข่ายเรียกเก็บภาษี ทำให้น่าเป็นห่วงว่า หลังมีการเรียกชำระจริงตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบจากรายได้หรือไม่ เสนอว่า ให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาหลังเลือกตั้งครั้งนี้ ควรหยิบมาพิจารณาปรับปรุงภาษีที่ดินให้เกิดความสมดุล และปรับราคาประเมินให้ใกล้เคียงกับราคาซื้อขายต่อไป


บ้าน

สอดคล้องกับ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ตามร่างเดิมถูกออกแบบให้จัดเก็บทุกราย ไม่มียกเว้น โดยให้เจ้าของทรัพย์แต่ละรายมีส่วนร่วมในการเสียภาษี เพื่อให้ท้องถิ่นของตนนำไปพัฒนาพื้นที่ โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลกลาง แต่ในที่สุดกลับลดฐานภาษี หากถือครองที่ดินเกษตรและบ้านมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จึงอยู่ในข่ายเสียภาษี อีกทั้งยังลดอัตราเรียกเก็บให้ต่ำลง และการบรรเทาให้ผ่อนชำระได้นานถึง 4 ปี กรณีใครเสียภาษีเกินจากกฎหมายเก่า เมื่อเป็นเช่นนี้เกรงว่า ท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจ เพราะ 99.9% ของคนทั้งประเทศ รอดจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน ทางออกรัฐบาลใหม่จะต้องกล้าปรับปรุงให้เกิดความสมดุลและหมั่นปรับราคาประเมินให้ทันราคาซื้อขาย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,419 วันที่ 18 - 21 พ.ย. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คลี่ปมภาษีที่ดิน
เอ็กซเรย์บ้านในกทม. 2.2 ล้านแปลง ส่อรอดภาษีที่ดิน


เพิ่มเพื่อน
595959859