'เอสเอ็มอี' โอด! เศรษฐกิจทรุด ดิ้นปรับกลยุทธ์รักษารายได้

22 พ.ย. 2561 | 06:50 น.
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียง ชี้! เศรษฐกิจปีนี้ยังไม่ดี ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย เร่งปรับกลยุทธ์รับมือ หวังรักษารายได้เท่าปีที่ผ่านมา เชื่อหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น จากความมั่นใจของผู้บริโภค

นางละมูล วชิรศักดิ์โสภานะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมูทุบ-เนื้อทุบ ต.ต้นโพธิ์ ผู้ผลิตและจำหน่ายหมู-เนื้อทุบแบรนด์ "คุณละเมียด บุญมาก" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลต่อยอดขายพอสมควร โดยจะเห็นได้จากการที่แบรนด์ไปออกงานแสดงสินค้าในปีนี้ พบว่า ผู้ที่เดินภายในงานมีจำนวนที่ลดน้อยลง ทำให้ปริมาณการเข้ามาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์น้อยลงไปเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี แบรนด์ได้พยายามปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณยอดขาย ซึ่งมุ่งหวังจะให้ได้ในระดับเดียวกับในปีที่ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์เพื่อรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ได้แก่ การนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ด้วยการนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาปรับใช้ เช่น หมูทุบเบนโตะ หมูทุบสมุนไพร และหมูทุบอบกรอบ เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทำให้สามารถรักษาฐานลุกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์การเข้าหาลูกค้าเดิมโดยตรงที่หายไป ส่งผลให้ได้ลูกค้าเก่ากลับมา โดยมองว่า รายได้ของแบรนด์ในปีนี้น่าจะรักษาระดับได้ที่ 1.2 ล้านบาท

"รัฐบาลชุดนี้สามารถทำงานได้ดี โดยเฉพาะเรื่องของการปราบปรามการทุจริตในแวดวงต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปีหน้าหากมีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ และผู้บริโภคเองก็น่าจะกลับมามีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น"

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นางมนลักษณ์ สารภาพ ประธานและเจ้าของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ไร่คุณมน ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยอบสุญญากาศ แบรนด์ "ไร่คุณมน" ที่กล่าวยอมรับว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนัก โดยเฉพาะภาคของสินค้าเกษตรที่ราคาปรับตัวลดลง แต่ตนเลือกที่จะนำมาแปรรูป จึงสามารถเพิ่มมูลค่าได้ อย่างไรก็ดี แบรนด์ยังได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งมุ่งหวังให้เป็นแนวทางในการลดต้นทุน โดยเลือกที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์มากกว่าการเดินทางไปออกแสดงสินค้า หรือ ส่งจำหน่ายที่ร้าน หรือ ห้าง เพราะแนวทางดังกล่าวเหล่านั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งเรื่องค่าเดินทาง ค่าแรกเข้า และค่าจ้างพนักงาน


ข่าว2

ปัจจุบัน เราเป็นศูนย์การเรียนรู้ในเชิงท่องเที่ยว หรือเรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาก็จะมีโอกาสได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแบรนด์โดยตรง ขณะที่ หากเป็นการส่งจำหน่ายแบรนด์ก็เลือกส่งไปยังที่แห่งเดียว หลังจากนั้นทางศูนย์ก็จะนำผลิตภัณฑ์ไปกระจายจำหน่ายยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนที่สูงมาก ส่วนผลิตภัณฑ์นํ้ามันงาและนํ้ามันมะรุม แบรนด์จะเลือกจำหน่ายที่ไร่และส่งผลิตภัณฑ์ทางไปรษณีย์เป็นหลัก

"ยอมรับว่า ปีนี้เหนื่อยมากสำหรับการทำธุรกิจ แต่เราก็สามารถประคองตัวให้อยู่ได้จากความพยายามในการลดต้นทุนด้วยแนวทางการบริหารจัดการ จากเดิมที่เราออกบูธจะมีรายได้หลักล้าน แต่เราอยู่ที่ศูนย์เรามีรายได้ 3 แสนบาท โดยรวมอาจจะดูน้อยกว่า แต่เมื่อหักรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว คุ้มค่ากว่ามาก เราเป็นเอสเอ็มอีรายเล็กจึงต้องพยายามหาแนวทางในการทำธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจและคู่แข่งที่มีมากขึ้น"

นายศราวุธ อันลํ้าเลิศ เจ้าของธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยวปากหม้อเรนโบว์ ที่พิษณุโลก กล่าวว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้บริโภคเกิดการชะลอการใช้จ่าย ทำให้ร้านต้องพยายามรักษาเป้ารายได้ให้อยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา ประมาณเดือนละ 8 แสนบาท หรือปีละเกือบ 10 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มเมนูใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจ และการขยายธุรกิจในรูปแบบของการขายสูตรไปยังจังหวัดอื่น ส่วนปีหน้าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย และทางร้านก็น่าจะตั้งเป้ารายได้ที่สูงขึ้นได้


หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3420 วันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

 

[caption id="attachment_350890" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]