เศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุม2 เครื่องยนต์ดับจี้รัฐเร่งแก้ภาพลักษณ์ท่องเที่ยว

22 พ.ย. 2561 | 10:41 น.
 

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกทั้งนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า สะท้อนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงออกมาปรากฏว่า หักปากกาเซียนไปหลายสำนัก เมื่อพบว่า ขยายตัวเพียง 3.3% ซึ่งตํ่ากว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในตลาดเงินตลาดทุนคาดการณ์ไว้ แม้ส่วนใหญ่จะมองว่า อัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 4.9% และไตรมาส 2 ขยาย 4.6% แต่ก็น่าจะยืนเหนือ 4% ได้

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์ระบุว่า สาเหตุหลักที่จีดีพีชะลอลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า มาตรการกีดกันการค้า ซึ่งเป็นผลจากสหรัฐฯอเมริกาทำสงครามการค้ากับจีนไป 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ที่มีผลเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีน 5,745 รายการ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มสร้างแรงกดดันการค้าการส่งออกของไทย

ทั้งนี้การส่งออกไตรมาส 3 มีมูลค่า 63,387 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 12.3% เพราะมีแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน สศช.จึงปรับประมาณการส่งออกปีนี้จาก 10% เหลือ 7.2% ขณะที่การนำเข้าไตรมาส 3 มีมูลค่า 59,963 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 16.8% ทั้งปีคาดว่าการนำเข้าจะขยายตัว 16.2% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 15.4% และปี 2562 คาดว่าการนำเข้าจะขยายตัว 6.5%

mp24-3420-b

ขณะเดียวกันยังมีผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงถึง 27% สืบเนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มเมื่อเดือนสิงหาคม และการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวยุโรปและรัสเซียลดลง แต่จะเป็นผลระยะสั้น ต้นปีหน้าจะฟื้นกลับมาได้

“ต้องระวังเรื่องกีดกันการค้าตั้งแต่ต้นปีหน้าที่ภาษีสินค้าจากจีนจะเพิ่มเป็น 25% และโอกาสทำตลาดใหม่เพิ่มเพื่อส่งสินค้าออกไปทดแทนจีนในสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจโลกและตลาดเงินยังผันผวนเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นรวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอและเงินหยวนยังอ่อนค่า และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ สนับสนุนการขยายตัวภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 รวมทั้งเร่งลงทุนภาครัฐ” นายทศพรระบุ

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เร่งแก้ไขภาพลักษณ์และการสื่อสารภาพการท่องเที่ยวโดยเรียนรู้ที่จะอยู่กับนักท่องเที่ยวจีนเช่นเดียวกับญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นการเชิญนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาควบคู่กับโปรโมตแคมเปญ เฉพาะมาตรการฟรีวีซ่าที่กำลังดำเนินการนั้นไม่เพียงพอต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ส่วนภาคส่งออกยังมีลุ้นตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่จะออกมาวันพฤหัสบดีนี้

“จีดีพีที่ออกมาตํ่ากว่าคาดเพราะ 2 เครื่องยนต์ดับ ท่องเที่ยวโตเหลือ 0.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่โต 10% และส่งออกแย่ลงมาก แต่มีสัญญาณดีทั้งการบริโภคเอกชนที่โต 5% ส่วนหนึ่งมาจากคนซื้อรถยนต์ ซึ่งสะท้อนความมั่นใจต่อรายได้อนาคต เมื่อบวกกับการลงทุนเอกชนที่โตขึ้นเกือบ 3% สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนที่โตถึง 10% ทั้งปีเชื่อว่าจีดีพีจะไม่ถึง 4.2% แต่ยังมองไว้ที่ 4% ยกเว้นรัฐซ่อมการท่องเที่ยวได้เร็ว”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,419 วันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว