ยอดเทรดไฟแนนซ์วูบ! พิษสงครามการค้า คาดทั้งปีทรงตัว

23 พ.ย. 2561 | 02:46 น.
แบงก์โอด! สงครามการค้าสะเทือนยอดสินเชื่อ ธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ชะลอตัว 'กสิกรไทย' ชี้! ธุรกรรมโอนเงินแบบ T/T ลดลง ขณะที่ L/C ยังโตได้ คาดทั้งปีไม่ทรงตัวส่วน 'กรุงศรีอยุธยา' เผย ยอดคำสั่งซื้อหด กระทบลูกค้าเอสเอ็มอี ชี้! เทรดไฟแนนซ์ทั้งปีโตไม่เกิน 11% ฟาก 'ทีเอ็มบี' เริ่มเห็นสัญญาณกระทบลูกค้า

ปัญหาพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มมีผลต่อภาคการส่งออกและนำเข้าของไทย จากตัวเลขมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือน ก.ย. ที่มีมูลค่ารวม 2.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากดูรายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว จะเห็นว่าอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกลดลงถึง 13% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือมีมูลค่าที่ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยต่อเดือนลดลงประมาณ 4% ขณะที่ อุตสาหกรรมรถยนต์ปรับลดลง 8% หากเทียบเฉลี่ยต่อเดือนลดลงถึง 14.5% แม้ว่ายอดที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตเพื่อขายในประเทศ ดังนั้น หากรวมตัวเลขการส่งออกและนำเข้าในช่วงเดือน ก.ย. เทียบเดือน ส.ค. มูลค่าปรับลดลง 11%

อย่างไรก็ดี หากดูเฉพาะตัวเลขการส่งออกปีนี้อยู่ที่ 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเดือน ก.ย. ลดลง 9% จากเดือน ส.ค. ซึ่งกลุ่มที่ลดลง ได้แก่ รถยนต์ เคมี อาหารและเครื่องดื่ม สะท้อนการปรับลดลงเกือบทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการนำเข้าเพื่อผลิตส่งออกน้อยลง ดังนั้น จะต้องติดตามตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค. อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายสำนักวิจัยออกมาประกาศจะปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากที่เคยคาดการณ์ 4.5% มาอยู่ที่ 4.3% สะท้อนว่า ปัญหาสงครามการค้าค่อนข้างแรงพอสมควร เพราะหากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง จีนจะนำเข้าหรือซื้อสินค้าจากอาเซียนน้อยลง ทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งประเทศที่มีต้นทุนสูงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

 

[caption id="attachment_350795" align="aligncenter" width="335"] สุรัตน์ สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์[/caption]

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มมีผลต่อการส่งออกและนำเข้ามากขึ้น เพราะกำลังซื้อจากจีนเริ่มลดลง ส่งผลต่อแนวโน้มสินเชื่อธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) คาดว่าทั้งปีไม่น่าจะขยายตัวมากนัก โดยตัวเลขช่วง 9 เดือนแรก มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท เติบโต 1.1% สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ขยายตัวเพียง 2% เท่านั้น คาดว่าทั้งปีธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์น่าจะทรงตัวและอาจมีผลกระทบมากขึ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ที่ยังคงขยายตัวได้จะเป็นการเปิดบัญชี (Letter of Credit) หรือ L/C ที่มีสัดส่วน 10% ส่วนการโอนเงินแบบ T/T ที่มีสัดส่วน 90% จะเห็นยอดหดตัวลง โดยปัจจุบัน ภาพรวมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการส่งออกและนำเข้ามีสัดส่วน 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวมเอสเอ็มอี ซึ่งนอกจากเรื่องสงครามการค้าแล้ว ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังคงต้องติดตามกำลังซื้อในประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ยอดสินเชื่อ Trade Finance เติบโตชะลอตัวลงจากปี 2560 ที่มียอดธุรกรรมขยายตัวสูงถึง 31% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรก ที่เติบโตเพียง 11% จากคาดการณ์ไว้น่าจะขยายตัวได้มากกว่านี้ ซึ่งทั้งปีคาดว่าอัตราการเติบโตจะทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าว


MP24-3420-A

ดังนั้น ธนาคารยังคงต้องติดตามปัญหาสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นประเด็นท้าทายต่อการเติบโตสินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ในปี 2562 โดยจะต้องหาสินเชื่อกลุ่มอื่นทดแทน เช่น สินเชื่อกลุ่มซัพพลายเชน (ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า) ซึ่งอยู่ระหว่างขยายเชนเพิ่มขึ้น คาดว่า ภายในปี 2562 น่าจะขยายเชนรายใหญ่เพิ่มอย่างน้อย 5-10 ราย จากที่มี 30 ราย ยอดสินเชื่อเติบโต 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะเดียวกัน จะพยายามรักษาสมดุลระหว่างลูกค้าใหม่และเก่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงพยายามต่อยอดผลิตภัณฑ์ (Cross Selling) ให้ลูกค้าเดินบัญชีผ่านธนาคาร ส่งผลให้ตัวเลขรายได้ค่าธรรมเนียมในการบริหารเงิน (Cash Fee) ช่วง 9 เดือน เติบโตได้ 19% และเงินฝากต้นทุนตํ่า (CASA) เติบโต 20% โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีที่ 1.8 หมื่นราย แบ่งเป็น กลุ่มขนาดเล็ก (SSME) ที่มียอดขายตั้งแต่ 20-150 ล้านบาท มี 1.3 หมื่นราย และกลุ่มขนาดกลาง (Medium Business) ยอดขายตั้งแต่ 150-1,000 ล้านบาทต่อปี มี 5 พันราย

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า พอร์ตลูกค้าที่ทำเทรดไฟแนนซ์ของธนาคารไม่ใหญ่มาก โดยมียอดวงเงินสินเชื่อราว 200 ล้านบาท หรือ 7-8% ของสินเชื่อเอสเอ็มอี อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าแล้ว ส่งผลต่อยอดสินเชื่อลดลงเล็กน้อย ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสหรัฐฯ มีทีท่าเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่คาดว่าปีนี้ยอดธุรกรรมน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้


หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,419 วันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859