"สินค้าเกษตร" โดน 2 เด้ง "ราคาดิ่ง" !!

21 พ.ย. 2561 | 03:38 น.
สินค้าเกษตรราคาดิ่ง สวนทางจีดีพีเกษตรพุ่ง เจอ 2 เด้ง ทั้งผลผลิตล้น-สงครามการค้า "หมู ไข่ไก่ ไก่เนื้อ" เจอทุบ ราคาในประเทศดาหน้าร่วง ขณะที่ สินค้าส่งออกปศุสัตว์ฉลุย ทะลุ 2.2-2.3 แสนล้านตามเป้า

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การขยายตัวภาคเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพี) ปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 คาดว่า โตไม่ตํ่า 5-6% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณนํ้าที่เพียงพอ ประกอบกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การตลาดนำการผลิต การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ จึงทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านพืชและปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาในประเทศตกตํ่า ประกอบกับสงครามการค้า 2 ประเทศมหาอำนาจ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย จึงทำให้สินค้าหลายตัวมีปัญหา


b6(62)

ไม่ว่าจะเป็น "ยางพารา" ที่ไทยมีตลาดส่งออกกว่า 90% ไปประเทศจีน ได้รับผลกระทบทั้งปริมาณและมูลค่า เพราะในจีนมีการปลูกยางพาราเพื่อทดแทนการนำเข้ามากขึ้น ความต้องการนำเข้าจากไทยลดลง ที่ผ่านมาไทยก็มีหลายมาตรการ ทั้งสินเชื่อตลอดห่วงโซ่ 6-7 หมื่นล้าน งดกรีดยางในพื้นที่รัฐ รวมทั้งนโยบาย 3 ประเทศ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย จำกัดการส่งออกก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ผล จนล่าสุด ต้องใช้มาตรการที่เป็นยาแรง ก็คือ เปิดจุดรับซื้อยางและชดเชยรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง


ไข่ไก่ DSC_9165-1

ส่วน "ปาล์มนํ้ามัน" โดยยุทธศาสตร์ตัวนี้ไม่ใช่เพื่อการส่งออกตั้งแต่ต้น เป็นการปลูกเพื่อทดแทนการนำเข้าและใช้บริโภคในประเทศเท่านั้น จะมีการส่งออกไปน้อยมาก ดังนั้น ไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อนำไปใช้ในส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่เห็นได้ชัดว่าอยู่ในเกณฑ์ราคาดีมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น


609281362

ด้าน นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยสดใส คาดปี 2561 นี้ ทำนิวไฮพุ่ง 2.2-2.3 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกไก่เนื้อ และผลิตภัณฑ์เป็นไปตามเป้า คาดจะมีปริมาณ 8.1 แสนตัน ส่วนมูลค่าคาดจะส่งออกได้ 1.04 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่นสัดส่วน 58% และสหราชอาณาจักร 18% ส่วนตลาดใหม่ในกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และยูเออี มีความต้องการเนื้อไก่เพิ่มขึ้น รองลงมาก็เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ในจีนยังเติบโตถึง 20% ต่อปี เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ ที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง ส่วนสินค้า "ไข่ไก่" "สุกร" และ "ไก่เนื้อ" ราคาในประเทศยังทรง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และในปีที่ผ่านมาราคาดีมาก จูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงกันมากขึ้น แต่จากนี้เชื่อว่าราคาน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น


pigs-387204_1920

ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า ราคาสุกรใน 5 ปีที่ผ่านมา ยังประสบปัญหาผู้เลี้ยงขาดทุน เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่ไปเลี้ยงในประเทศเพื่อนบ้านต้นทุนตํ่ากว่าส่งไปแข่งขันตัดราคาในตลาดโลก ทำให้ไทยต้องสูญเสียตลาดให้กับเพื่อนบ้านไป ส่วนสถานการณ์ราคา "ไก่เนื้อ" แหล่งข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เผยว่า ราคาช่วงนี้ทรงไม่ค่อยดี เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่ไข่มีการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงมากขึ้น จึงทำให้ไก่เนื้อมีปัญหาด้านราคา เพราะเป็นตลาดเดียวกัน


manioc-892517_1920

ขณะที่ นายธีระชาติ เสยกระโทก นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้ราคาดีมาก เพราะประสบภัยแล้ง ส่งผลทำให้ราคาดี แต่ผลผลิตก็ตํ่า ดังนั้น เกษตรกรรายได้จึงไม่ค่อยดีเท่าไร จากปัญหาจึงทำให้มีแนวคิดที่จะเสนอภาครัฐให้นำเทคโนโลยีนํ้าหยดมาใช้ เพื่อจะทำให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและต้องหาอาชีพอื่นเสริมด้วย


หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3419 วันที่ 18-21  พฤศจิกายน 2561


e-book-1-503x62-7