กลุ่มธุรกิจสื่อ-สิ่งพิมพ์ปี58อาการหนัก!

04 มี.ค. 2559 | 06:00 น.
กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ ปี 58 อาการหนัก ธุรกิจทีวีดิจิตอลฉุดผลประกอบการ "บีอีซี เวิลด์" กำไรหดเหลือ 2.9 พันล้าน รับแย่ทั้งช่อง 3 และช่องทีวีดิจิตอลที่ยังแบกขาดทุน "โมโน-อมรินทร์" ขาดทุนพุ่ง มีเพียง"เวิร์คพอยท์" โงหัวพลิกมีกำไร "พีพีทีวี" บ่นอุบทีวีดิจิตอลปัญหาเยอะ ทำผลประกอบการพลาดเป้า ย้ำจะอยู่รอดต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านต่อปี เดินหน้าเพิ่มทุนอีก 1.5 พันล้าน ด้าน "อาร์เอส"ยังแจ่ม โกยรายได้ 3.72 พันล้าน กำไร 121 ล้าน

ผู้ประกอบการกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ ที่ทำธุรกิจทีวีดิจิตอล ผลประกอบการยังแย่ต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจหรือออกอากาศตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2557 จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่าปี 2558 ผลประกอบการลดลงถ้วนหน้า เช่น บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.) ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 2.98 พันล้านบาท ลดลง 31.23% บมจ.อสมท มีกำไรสุทธิ 57.80 ล้านบาท เทียบปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 412.79 ล้านบาท หรือลดลง 86%

[caption id="attachment_35176" align="aligncenter" width="503"] ผลประกอบการกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ ผลประกอบการกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์[/caption]

บมจ.บีอีซี เวิลด์ ชี้แจงตลท.ว่า โดยภาพรวมปี 2558 รายได้โฆษณาลดลงจากเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่บริษัทขาดทุนมากขึ้นจากธุรกิจทีวีดิจิตอล นอกจากนี้ยังไม่สามารถสร้างรายได้โฆษณาจากช่อง 3 ซึ่งเป็นธุรกิจหลักให้ได้เท่ากับปีก่อน แต่กลับมีต้นทุนสูงขึ้น

  "โมโน-อมรินทร์ "อาการหนัก

สำหรับบริษัทที่ยังขาดทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปี 2557 คือ บมจ.โมโน เทคโนโลยี ขาดทุนสุทธิ 486.57 ล้านบาท เทียบปีก่อนที่ขาดทุนเพียงเลข 2 หลัก เช่นเดียวกับบมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง ที่ขาดทุนสุทธิ 417.15 ล้านบาท บมจ.เนชั่น บรอดเคสติ้ง หรือเอ็นบีซี ขาดทุนสุทธิ 20.56 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

ส่วนบมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เป็นเจ้าเดียวที่พลิกมีกำไรสุทธิ 163.66 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุนสุทธิ 16.02 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

 "อาร์เอส" ฟันกำไร 121 ล้าน

นายดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ. อาร์เอส กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2558 บริษัทมีรายได้รวม 3.72 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 121 ล้านบาท ทั้งนี้หากแยกประเภทธุรกิจพบว่า ธุรกิจสื่อ มีรายได้ 2.24 พันล้านบาท ลดลง 33% หากไม่นับรวมรายได้การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์จะเติบโต 12% โดยเฉพาะช่องทีวีดิจิตอล "ช่อง 8" ที่มีเรตติ้งเป็นอันดับ 4 ของประเทศ

ธุรกิจเพลงและคอนเสิร์ตอีเวนต์ มีรายได้ 1.17 พันล้านบาท เติบโตจากการให้บริการมิวสิก สตรีมมิ่ง (Music Streaming) และยูทูบ (YouTube) และจำนวนคอนเสิร์ตและอีเวนต์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยทิศทางธุรกิจในปีนี้บริษัทมีแผนต่อยอดธุรกิจจากธุรกิจสื่อเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้อื่นๆให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาคอนเทนต์ในสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นรายได้ต่อไปด้วย และหยุดดำเนินกิจการในธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรและไม่สามารถต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคตด้วย

 จีเอ็มเอ็มnติดตัวแดงพันล้าน

ขณะที่นางสาวบุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า ผลประกอบปี 2558 บริษัทมีรายได้รวม 9.7 พันล้านบาท เติบโต 4.7% ขณะที่ขาดทุนสุทธิ 1.14 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 53% ทั้งนี้ผลขาดทุนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท โดยธุรกิจเพลง มีรายได้รวม 3.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% หลังจากที่บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง การฟื้นตัวของธุรกิจโชว์บิซและการเติบโตของช่องทางออนไลน์

ส่วนธุรกิจทีวีดิจิตอล พบว่าทั้งช่อง One 31 และช่อง GMM 25 ยังมีการเติบโตทั้งรายได้และเรตติ้ง โดยปีนี้คาดว่าช่อง One 31 จะมีรายได้เติบโตกว่า 80% ส่วนช่อง GMM 25 มีการปรับผังรายการ เพิ่มคอนเทนต์ คาดว่าจะมีรายได้เติบโตกว่า 85% ขณะที่ธุรกิจอื่น อาทิ ธุรกิจโฮม ช็อปปิ้ง "O Shopping" มีการขยายตัวสูง ทำให้บริษัทมีรายได้กว่า 1.73 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา หรือเติบโต 53% และในปีนี้บริษัทยังเดินหน้าธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดตั้งบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด เพื่อรุกธุรกิจภาพยนตร์ ด้วย

ด้านนายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ผู้บริหารช่อง "วอยซ์ ทีวี" กล่าวว่า ปี 2558 วอยซ์ ทีวีมีรายได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 30% ขณะที่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 7% และจะคืนทุนภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอล ตามแผนงานที่วางไว้ โดยแผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทเตรียมปรับผังรายการใหม่รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุดบริษัททุ่มงบกว่า 200 ล้านบาทจับมือเป็นพันธมิตร อาทิ JSL, BrandAge,Travel Channel,Money Channel ,Smart SME Channel และมติชนผลิตเนื้อหาข่าวและรายการโดยวางเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำสถานีวิเคราะห์ข่าว

  ทำใจปัญหาเยอะรายได้พลาดเป้า

ขณะที่นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด สถานีโทรทัศน์"พีพีทีวี เอชดี" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิตอลขณะนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ค่อยเป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น เนื่องจากประสบปัญหาต่างๆ อาทิ เรตติ้ง ราคาโฆษณา การเข้าถึงกลุ่มผู้ชม เป็นต้น

เช่นเดียวกับพีพีทีวี ซึ่งทุกปีบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 800 - 1 พันล้านบาท แต่จากปัญหาข้างต้นส่งผลให้บริษัทมีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักต่อผู้ชมเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นบริษัทเชื่อว่าในปีนี้และปีถัดไปจะมีเรตติ้งที่ดีขึ้นและภายในปี 2561 จะมีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้น

  " พีพีทีวี" สู้!เพิ่มทุนอีก 1.5 พันล้าน

นายเขมทัตต์ กล่าวว่า ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มทุนจาก 1.5 พันล้านบาท เป็น 3 พันล้านบาท เพื่อรุกธุรกิจทีวีดิจิตอลต่อเนื่อง โดยเน้น Partnership & Engagement รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเติมรายการคุณภาพทั้งละคร ข่าว กีฬา และบันเทิง ทุกช่วงเวลา รวมถึงขยายงานด้านNON Broadcast เพิ่มเติม

สำหรับปีนี้บริษัทวางแผนเพิ่มคอนเทนต์ที่เป็นกระแสต่างๆลงในผังรายการเพิ่มเติมเพื่อหวังเพิ่มเรตติ้งให้มากขึ้น หลังจากที่มีเรตติ้งเข้ามาก็จะมีรายได้ตามมา ขณะเดียวกันบริษัทมองว่าการทำธุรกิจทีวีดิจิตอลทุกช่องโทรทัศน์จำเป็นต้องทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทจึงจะสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้

 "เอ็นบีซี"รายได้โฆษณาพุ่ง 25%

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือเอ็นบีซี ชี้แจงตลท.ว่า ปี 2558 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 825.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน โดยรายได้โฆษณาจากธุรกิจโทรทัศน์เพิ่มขึ้น 25%สวนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเนชั่นทีวีช่อง 22 มีรายได้เพิ่มขึ้น 31% เนื่องมาจากรายได้ค่าโฆษณาที่มาจากธุรกิจทีวีดิจิตอล ในขณะที่รายได้ธุรกิจวิทยุ และธุรกิจนิว มีเดียส์ ลดลงในสัดส่วน 3% และ 5% ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559