ทรูมูฟ เอช‘ติดปีก’ดัน 900 เต็มสูบหลัง 6 แบงก์ออกการันตี

05 มี.ค. 2559 | 10:00 น.
6 แบงก์ธนาคารพาณิชย์ ออกหนังสือค้ำประกันวงเงินใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทให้ "ทรูมูฟ เอช" แล้ว "ศุภชัย" เผยวางแผน 3 ปี ทุ่มเงินลงทุน 5.7 หมื่นล้านบาท ติดตั้งเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมด โดยปีนี้ใช้เงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ติดปีกคลื่น 900 ชี้เดือน พ.ค.มีเครือข่ายให้บริการ 1.6 หมื่นสถานี สิ้นปีมีถึง 2 หมื่นสถานี ด้านแบงก์กรุงเทพยอมรับเปิดโต๊ะเจรจากับ "แจส โมบาย" แต่ยังไร้ข้อสรุป

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ (TUC) ได้ลงนามเซ็นสัญญากับธนาคารพาณิชย์จำนวน 6 แห่ง คือ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) , ธนาคารกรุงเทพ,ธนาคารกสิกรไทย,ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารเกียรตินาคิน ได้ออกหนังสือค้ำประกันวงเงินจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นผู้สนับสนุนวงเงินค้ำประกันสูงสุดถึง 50% เป็นจำนวนเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำวงเงินดังกล่าวไปยื่นพร้อมกับการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์พร้อมกับการจ่ายเงินงวดแรกเป็นเงิน 8 พันล้านบาท ที่ TUC ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาให้กับสำนักงาน กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)

อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ TUC จะนำหนังสือค้ำประกันวงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาทพร้อมกับวงเงินชำระงวดแรกไปชำระให้กับ กสทช.อย่างเป็นทางการเนื่องจากว่า กสทช.ได้กำหนดให้ผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ นำเงินมาชำระงวดแรกในวันที่ 21 มีนาคม

นายศุภชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนติดตั้งเครือข่ายเพื่อให้บริการคลื่นความถี่ 1800-2100 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เตรียมเงินลงทุนไว้ทั้งสิ้น 5.7 หมื่นล้านบาท เพื่อติดตั้งเครือข่ายภายในระยะเวลา 3 ปี โดยแบ่งการลงทุนในปีนี้จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อติดตั้งเครือข่ายบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1.6 หมื่นสถานี และสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นสถานี และ ภายใน 3 ปี จะมีเครือข่ายให้บริการ 3 หมื่นสถานี ส่วนคลื่นความถี่ 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี และ 4 จีจะเพิ่มอีก 3 พันสถานีให้เป็น 2.5หมื่นสถานี ขณะที่คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี มีเครือข่าย 1.6 หมื่นสถานี ภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ภายในปลายปีนี้เครือข่ายของทรูมูฟ เอช มีพื้นที่บริการครอบคลุมประชากรถึง 90%

"คุณสมบัติของคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ มีการรับ-ส่งสัญญาณที่กว้างไกลกว่าเดิมและครอบคลุมพื้นที่บริการได้มากที่สุดทำให้ประหยัดการลงทุนถึง 4.7 หมื่นล้านบาท และ เป็นผู้ให้บริการรายแรกรายเดียวที่ให้บริการ 4 จีแอดวานซ์ เพราะมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการมากที่สุดถึง 40 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไปสามารถรับ-ส่งสัญญาณด้วยความเร็วสูง"
ด้าน ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันธนาคารยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือได้รับการติดต่อเข้ามาจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเรื่องของการสนับสนุนการออกหนังสือค้ำประกัน (L/G) แต่อย่างใด ประกอบกับในเบื้องต้นธนาคารเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนเคชั่นฯ (TUC) จึงยังไม่ได้มีการพิจารณารายอื่น

ทั้งนี้ ในส่วนของวงเงินที่ให้สนับสนุนกับทรู นั้น ถือว่าค่อนข้างสูงประมาณ 50% ของวงเงินทั้งหมดที่ 7.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดประมาณราวๆ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวเป็นการสนับสนุนจากธนาคารไอซีบีซี ฮ่องกง ที่ออกหนังสือค้ำประกันระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Standby Letter of Credit: SBLC ให้กับธนาคารไอซีบีซี ไทย ตามวงเงินครบจำนวนในการออกแบงก์การันตี

อย่างไรก็ดี ตามกฎของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หนังสือค้ำประกันจะต้องออกโดยสถาบันการเงินของไทยเท่านั้น ดังนั้น ธนาคารจึงได้ขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกหนังสือค้ำประกันในลักษณะดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นการขออนุญาตเรื่องของหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit) หรือ SLL แต่อย่างใด เนื่องจากการออกแบงก์การันตีไม่ต้องใช้เรื่องของเงินสดหรือเงินทุน

"เบื้องต้นเรายังซัพพอร์ตทรูรายเดียว เพราะเรามองว่าในอนาคตอาจมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ ตามมา และธุรกิจโทรคมนาคมยังขยายตัวได้อีกมาก เพราะบางประเทศเขาพัฒนาไปใช้ 5จี ซึ่งไทยก็ยังคงต้องพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องนี้ ส่วนรายอื่นยังไม่ได้มีการติดต่อเข้ามา ประกอบเราต้องการโฟกัสทรู ตรงนี้ก่อน"

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารไม่สามารถบอกอัตราดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมได้ แต่เงื่อนไขการออกแบงก์การันตีครั้งนี้เป็นไปตามกฎของกสทช. คือ จะต้องมีการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นงวดแรกจำนวน 8.04 พันล้านบาท ส่วนงวดที่ 2 และ3 อีกจำนวน 4.02 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือในงวดที่ 4 จากวงเงินที่ต้องชำระราวๆ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยวงเงินของธนาคารกรุงไทยอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารมั่นใจว่าธุรกิจสื่อสาร-โทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัท ทรูฯ เป็นบริษัทที่มีศักยภาพและมีบริการหลายช่องทางให้กับลูกค้า จึงไม่น่าเป็นห่วง ส่วนกรณีการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มแจส ตอนนี้ธนาคารยังไม่ได้รับการติดต่อหรือเข้าไปพูดคุยแต่อย่างใด แต่หากมีความสนใจในการออกหนังสือค้ำประกันลูกค้าอาจจะต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และต้องมีวงเงินที่สามารถชำระค่าใบอนุญาตประมูลคลื่นได้

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับกลุ่มแจส แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ท่าทีของคำขอของผู้กู้ 2.เงื่อนไขของกสทช. และ 3.แผนธุรกิจ ที่จะต้องนำมาพิจารณา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน

อนึ่งวงเงินการออกหนังสือค้ำประกันรวม 7.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารไอซีบีซี ไทย ประมาณ 50% หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทยรายละ 1.05 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 4 พันล้านบาท และธนาคารเกียรตินาคิน 3 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559