"เด็กรุ่นใหม่" ฝันตั้งธุรกิจ! "กลุ่มซี" แนะใช้ "อี-คอมเมิร์ซ" ก้าวข้ามความท้าทาย

21 พ.ย. 2561 | 10:08 น.
"กลุ่มซี-เวิลด์อีโคโนมิค ฟอรั่ม" เผยสำรวจเยาวชนภูมิภาคอาเซียน พบคนรุ่นใหม่ไทยอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่าลูกจ้าง แต่ต้องพบความท้าทายหลายมิติ ทั้งปัญหาขาดแรงงานและความเสี่ยงรายได้ แนะส่งเสริมใช้ อี-คอมเมิร์ซ ก้าวผ่านความท้าทาย

ดร.สันติธาร เสถียรไทย หัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มบริษัท ซี ลิมิเต็ดฯ (Sea) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตภายใต้แพลตฟอร์ม Shopee (ช้อปปี้) และ Garena (การีนา) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทซีฯ ได้ร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) ทำการศึกษามุมมองเกี่ยวกับการทำงาน ผลกระทบของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีผลต่อการทำงานในองค์กร ไปจนถึงความคาดหวังของเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยต่อการทำงานในอนาคต

ซึ่งสาระสำคัญของผลสำรวจเยาวชนไทย พบว่า ประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่อยากเป็นผู้ประกอบการสัดส่วนสูงสุดในอาเซียน โดยมีสัดส่วนราว 36% ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ และมีจำนวนมากที่มีการศึกษาตํ่ากว่าปริญญาตรี สัดส่วนราว 42% ขณะที่ กลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า มีเพียง 25% ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ระดับการศึกษาเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความอยากเป็นผู้ประกอบการสูงกว่าปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ และที่อยู่ โดยเฉลี่ยแล้วเยาวชนที่มีการศึกษาตํ่ากว่าปริญญามีโอกาสที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการมาก กว่ากลุ่มที่มีปริญญาตรีหรือสูงกว่า ถึง 17% และยังพบว่า กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีความใฝ่ฝันหลากหลาย โดยมีผู้ที่ต้องการทำงานในภาครัฐ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากช่วยธุรกิจครอบครัว และอยากทำงานบริษัทข้ามชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีทางเลือกและโอกาสที่หลากหลายกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาตํ่ากว่าปริญญาตรี

สำหรับประเด็นความท้าทายของผู้ประกอบการในอนาคตนั้น เรายังคงขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ โดยมีผู้ต้องการเป็นเจ้าของกิจการของตัวเองเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งคนที่ไม่ได้ทำงาน คนที่ทำงานในบริษัทกลางและเล็ก และคนที่ทำงานในสตาร์ตอัพ มีเพียง 20% ที่ต้องการทำงานที่เดิมต่อไป ทำให้เกิดคำถามว่า ต่อไปผู้ประกอบการจะสามารถหาบุคลากรที่มีความสามารถมาช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าเป็นลูกจ้าง


TP5-3420-1

ผลการศึกษาครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ของไทยเลือกรายได้มากกว่าความสมดุลในชีวิตและการทำงาน และเลือกทำงานที่ได้ประโยชน์กับสังคมไว้ท้ายสุด โดยคนรุ่นใหม่ 42% ระบุว่า จุดประสงค์การทำงาน คือ ต้องการมีรายได้สม่ำเสมอ ขณะที่ 30% ให้ความสำคัญกับสมดุลในชีวิตและการทำงาน และอีก 17% เลือกทำงานเพื่อการเรียนรู้และประสบการณ์ มีเพียง 5% ระบุว่า เลือกทำงานด้วยจุดประสงค์ต้องการเห็นผลตอบแทนสู่สังคม ซึ่งเป็นสัดส่วนตํ่าสุดในอาเซียน ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นประเด็นความท้าทายสำหรับการเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ต้องการมีรายได้สม่ำเสมอ แต่การเลือกเป็นเจ้าของกิจการมีรายได้ผันผวนสูงกว่าการเป็นพนักงานประจำ

ส่วนมุมมองของคนรุ่นใหม่กับเทคโนโลยีนั้น ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่มีระดับการศึกษาตํ่ากว่าปริญญาตรีมีมุมมองแง่บวกต่อผลกระทบเทคโนโลยีกับการจ้างงาน มากกว่าคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า

กลุ่มคนรุ่นใหม่ในองค์กรที่มีโครงสร้างชัดเจน อาทิ ภาครัฐ บริษัทขนาดใหญ่ มักมีมุมมองด้านลบของผล
กระทบเทคโนโลยีกับการจ้างงาน โดย 47% คาดว่าจะทำให้ตำแหน่งงานลดลง ขณะที่ กลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการมีมุมมองแง่บวกมากกว่า โดย 67% ของผู้ประกอบการ เชื่อว่าตำแหน่งงานจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี

ดร.สันติธาร กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เยาวชนไทยมี "จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ" แม้ว่าการเป็นผู้ประกอบการจะเป็นสิ่งดี แต่มีความท้าทายหลายมิติ ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความ เสี่ยงต่อความไม่สม่ำเสมอของรายได้ ทำให้เรามองว่า ควรส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยี อี-คอมเมิร์ซ อาจจะช่วยให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ก้าวข้ามความท้าทาย โดย อี-คอมเมิร์ซ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจและไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานจำนวนมาก

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,420 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

595959859