หนี้ครัวเรือนถึงจุดพีก? ถ่วงเติบโตเศรษฐกิจ - ‘เกษตร’ อ่วมสุด

03 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
การแถลงข่าวรายไตรมาส เรื่องภาวะสังคมไตรมาส 4/2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (เมื่อ29 ก.พ. 59 ) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสศช. ได้กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2558 ว่าระดับการเพิ่มของหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง แต่การผิดนัดชำระหนี้ยังเพิ่มขึ้นสูง โดยในไตรมาส 3/2558 หนี้สินครัวเรือนมีประมาณ10.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% หรือคิดเป็นสัดส่วน 80.8%ของจีดีพี และคาดว่าสิ้นปี 2558 หนี้สินครัวเรือนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5% หรือคิดเป็น 81% ของจีดีพี

[caption id="attachment_35184" align="aligncenter" width="503"] สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี[/caption]

 หนี้ชะลอแต่ยอดผิดนัดเพิ่ม

โดยระดับการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 4/2558 ที่เพิ่ม 6.3% ชะลอลงต่อเนื่องจาก 7.6%, 7.0% และ 6.7% ในไตรมาส 1/2558 ถึงไตรมาส 3/2558 ตามลําดับ โดยที่ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 50% เป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์และที่ดิน เพิ่มขึ้น 9.4%

ส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีสัดส่วน 23% ยอดหนี้เพิ่ม 1.0% หลังจากการหดตัวลงต่อเนื่อง 6 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีรถยนต์ในปี 2559 ประกอบกับฐานที่ต่ำในปี 2557 และที่เหลืออีกสัดส่วน 27% ของยอดคงค้างสินเชื่อ เป็นประเภทสินเชื่อบุคคลอื่น ๆ เพิ่มในอัตราชะลอที่ 5.4%

ขณะที่การเพิ่มของหนี้เสียต่อยอดคงค้างยังเพิ่มต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาส 4/2558 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 9.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9 % โดยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 2.6% ส่วนสินเชื่อภายใต้การกํากับผิดนัดชําระหนี้เกิน 3 เดือน (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นถึง 17.9% และเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 5.2% โดยยอดค้างชําระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มถึง 25.7% และเป็นสัดส่วน 3.1%ของยอดคงค้าง

 ภาคเกษตรอ่วม"ภัยแล้ง"

อย่างไรก็ตามที่จะต้องจับตาคือ การเพิ่มของสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2559 ในกลุ่มหนี้ภาคเกษตรจากผลกระทบของภัยแล้ง”

"แม้แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนจะชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามภาวะภัยแล้งที่จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของกลุ่มเกษตรกร จากปรากฏการณ์เอลนิโญและปริมาณน้ำลดลง ที่อาจซ้ำเติมความสามารถการชําระหนี้ของครัวเรือนในปี 2559"

รายงานจากสศช. พบว่าสิ้นปี 2558 การจ้างงานในภาคเกษตรลดลง 3.6% (จากผู้มีงานทำ 38.37 ล้านคน)ส่วนการจ้างนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.6% โดยภาวะภัยแล้งทำให้การจ้างงานภาคเกษตรในปี 2558 ลดลงเหลือ 12.27 ล้านคน เทียบจากที่มีการจ้างงาน 12.73 ล้านคนในปี 2557 หรือลดลงถึง 4.6 แสนคน ขณะที่จำนวนเกษตรกรที่เป็นหนี้ทั้งสิ้นมี 8.28 ล้านคน คิดเป็น 67.6% ของเกษตรกรทั้งหมด เฉลี่ยหนี้สินต่อคน 1.94 แสนบาท

สอดคล้องกับนางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 2558 ยังไม่ดีขึ้นและที่แย่ลงไปกว่าเดิมคือครัวเรือนภาคเกษตร จาก 2 ปัจจัยคือ 1.เศรษฐกิจที่ฟื้นช้ากว่าคาด และ 2.ราคาสินค้าภาคเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง

 หนี้คนในเมือเพลาลง

โดยยกผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลข ณ ครึ่งแรกของปี2558 พบว่าหนี้ครัวเรือนของกลุ่มคนเมืองดีขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วเล็กน้อย ไม่ว่าจะด้านรายได้เทียบรายจ่าย หรือรายได้เทียบหนี้สิน

"เทียบภาระหนี้ของคนในเมืองปี 2556 ที่เกิดจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐหลังน้ำท่วม (ปี 2554-2555 )อาทิโครงการรถคันแรก ,มาตรการเงินช่วยซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ มาในปี 2558 หนี้ครัวเรือนกลุ่มคนในเมืองเริ่มเพลาลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้ของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ยังแย่ลงก็คือหนี้ครัวเรือนภาคเกษตร ชนบทในภาคเหนือ ,ตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวลง ปัญหาภัยแล้ง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นช้า ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ในกลุ่มภาคเกษตรด้อยลง การแก้ไขหนี้ยากขึ้น จึงเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง" เธอกล่าว และว่า

แนวโน้มการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่บนสมมติฐาน โดยเอชเอสบีซีประเมินว่าหาก Normal GDP (เศรษฐกิจที่แท้จริงบวกอัตราเงินเฟ้อ ) ปี 2559 ,ปี 2560 ขยายตัวที่ 5.2%และ 6.3 % ตามลำดับ ขณะที่การขยายของสินเชื่อครัวเรือนเติบโตเฉลี่ยปีละ 6 % จะทำให้หนี้ครัวเรือนภายในสิ้นปี 2559 ถึงจุดพีกสูงสุดที่ 83.5 % ก่อนจะค่อยๆปรับตัวลง แต่หากสินเชื่อครัวเรือนขยายตัว 6.5% และเศรษฐกิจยังขยายตัวช้า หนี้ครัวเรือนมีโอกาสแตะถึง 84% และจะเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

"จะเห็นว่าการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ปัจจุบันโตเพียง 2 % (ข้อมูลสศช.ระบุการบริโภคภาคเอกชนปี 2558 โต 2.1% และประมาณการปี 2559 ว่าจะโต 2.7 % ) เทียบกับอดีตที่เคยขยายในอัตรา 3 % เนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นไม่กล้าใช้จ่ายไม่อยากก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้มาตรการเพื่อการบริโภคในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผลเท่าในอดีต"

 มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายได้ผลน้อย

จากข้อมูล "ฐานเศรษฐกิจ" ยังพบว่าประสิทธิภาพการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมใหญ่ (ปี 2554-2555 ) มีส่วนสำคัญทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปี 2555 ขยายตัวถึง 6.6 % (ตารางประกอบ) ก่อนจะปรับลงเหลือ 0.3 % .ในปี 2556 ( ส่วนหนึ่งการบริโภคในประเทศอ่อนตัวลง มีเหตุจากวิกฤติการเมือง การคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมช่วงไตรมาส 4/2556 )ก่อนจะขยายมาอยู่ระดับ 2%เมื่อปี 2558

เอชเอสบีซี ยังคาดการว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ปกติในปี 2560 โดยขยายเกินกว่า 2 % แต่ยังมีโอกาสที่จะขยายต่ำกว่าคาด ซึ่งสะท้อนสภาพคล่องครัวเรือนในปีหน้าอาจไม่ดีขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้และชำระหนี้ ขณะที่ความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ เธอมองว่าไม่น่ากังวลเพราะสถาบันการเงินยังบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี อย่างไรก็ดีมาตรการกระตุ้นของภาครัฐในระยะต่อไป อาจต้องเลือกช่วยให้ถูกกลุ่มมากขึ้นโดยเพิ่มความระมัดระวัง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท. ) กล่าวเรื่องนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยอมรับว่าระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง การคาดหวังให้การบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำได้ยากขึ้น และเมื่อเทียบกับประเทศที่ระดับเศรษฐกิจ, รายได้ต่อหัวใกล้เคียงกันไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีกว่า80% ดังนั้นแม้ภาครัฐจะอัดฉีดให้ภาคครัวเรือนก็จะไม่เกิดประสิทธิผล กลับไปสร้างความเปราะบางให้กับครัวเรือน จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

 ผู้ว่าการธปท.มองเยียวยายังจำเป็น

อย่างไรก็ดี ก็ต้องแยกเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องหนึ่งเราปฏิเสธ (reject) การใช้สินเชื่อครัวเรือนเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยทำเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาและวันนี้ก็เห็นผลข้างเคียงแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าวันนี้รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเลย การเยียวยายังจำเป็น เช่น ปัญหาภัยแล้ง ก็ต้องเยียวยาระยะสั้นพอให้อยู่รอดได้ใน 1 ปี สามารถมีเงินหมุนในปีนี้ โดยไม่กลายเป็นหนี้เสียหรอื ไปพึ่งเงนิ กู้นอกระบบที่จะสร้างความเปราะบางยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องแน่ใจว่าเป็นการเยียวยาจริง

ทั้งนี้ธปท. ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2559 ว่าเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณแผ่ว เนื่องจากผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวที่เริ่มหมด ประกอบกับปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคในเดือนนี้แผ่วลง จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงเล็กน้อยตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้งและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรที่หดตัวยังเป็นปัจจัยถ่วงของการบริโภค

โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกลับมาหดตัวถึง 6.3% หลังขยายตัวได้ในเดือนธันวาคม 2558, การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลง หลังผู้บริโภคเร่งซื้อไปแล้วในช่วงปลายปี 2558จากผลของมาตรการภาครัฐที่ให้นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 1.5หมื่นบาท เป็นต้น

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งหนี้ค้างชำระยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างชัดเจน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ภาครัฐ ทางหนึ่ง การหวังให้การบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนกว่า 50% ของจีดีพี เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชดเชยภาคส่งออกที่หดตัว มีข้อจำกัดมากขึ้นอีกด้านกลุ่มหนี้ที่มีความเปราะบางสูง“ภาคเกษตร” จะเยียวยาอย่างไรไม่ให้แย่ไปกว่าเดิมหรือลามไปกระทบกลุ่มนอกภาคเกษตร เป็น 2 ปมที่ต้องแก้ไปพร้อมกัน !!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559