วงศ์บัณฑิตเซ็นขายยาง1.1แสนตัน จับคู่ยางไทย-เทศซื้อขายหมื่นล้าน

03 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
"วงศ์บัณฑิต" เซ็นขายยาง 1.10 แสนตันให้ 3 ผู้นำเข้าจีน ชี้โครงการจับคู่ธุรกิจยางของกระทรวงพาณิชย์กระตุ้นตลาดและราคาในระยะสั้น ขณะคาดความต้องการใช้ยางโลกปี 2559 ลดเหลือ 12 ล้านตัน เชื่อทิศทางราคาดีขึ้นหลัง 3 ประเทศจับมือลดส่งออก 15% นาน 6 เดือน ด้านพาณิชย์ยิ้มจับคู่ยาง คาดเกิดการซื้อขายหมื่นล้าน โชว์แผนเร่ขายตปท. ด้านนายกฯยางพารา ชี้ราคาต่ำสุดรอบ 10 ปี จากนี้ขาขึ้น

จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้มี "โครงการจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพารา" โดยได้นำคณะผู้ซื้อผู้นำเข้ายางพาราจากทั่วโลก 147 ราย มาร่วมเจรจาการค้าและจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย 109 ราย เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้า และแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าที่ผู้นำเข้าให้ความสนใจในครั้งนี้ ได้แก่ ยางล้อ ยางคัน หมอนและที่นอนยาง ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง และไม้ยาง คาดจะเกิดมูลค่าการซื้อขายในครั้งนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท และจากนี้จะมีการเจรจาซื้อขายต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกระทรวงยังมีแผนงานที่จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการนำคณะไปเจรจาซื้อขายยางกับหลายประเทศ จากที่ผ่านมาได้ไปเจรจากับรัสเซียและเบราลุส ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยรัสเซียสนใจจะสั่งซื้อสินค้ายางพาราจากไทย ทั้งไม้ ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง รวมปริมาณมากกว่า 8 หมื่นตัน

"บริษัทของรัสเซียยังสนใจที่ลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ในไทย และยังมีอีกหลายประเทศสนใจลงทุนเพิ่มเติมด้วย ขณะเดียวกันอินเดียได้สนใจซื้อไม้ยางพาราจากไทยมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว"

อย่างไรก็ดี ในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการซื้อผลิตภัณฑ์ยางระหว่างผู้ประกอบการไทยคือ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.) กับผู้นำเข้าจากจีน 3 ราย ได้แก่ บจก.ชิงเต่า เรื่อนเหรียญ, บจก.เซี่ยงไฮ้ ฮาน ชิง อิมพอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต และบจก.เซี่ยงไฮ้ ติง ชิง อินดัสทรี ปริมาณรวม 1.10 แสนตัน มูลค่ากว่า 3.85 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของการส่งออกยางพาราของไทย จากในปี 2558 ไทยส่งออกวัตถุดิบยางพารามูลค่า 5.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารามูลค่า 6.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดหลักที่จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ด้านนายบัณทิต เกิดวงศ์บัณฑิต รองกรรมการผู้จัดการ บจก.วงศ์บัณฑิตและเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเป็นกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นตลาดและราคายางในระยะสั้นนี้ โดยคาดการณ์แนวโน้มยางพาราในปีนี้น่าจะมีทิศทางดีขึ้น ภายหลังจากที่ผลการประชุมบจก.ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ หรือ IRCo เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ผ่านมาที่มีมติกำหนดนโยบายให้ผู้ส่งออกยางพาราใน 3 ประเทศสมาชิกเดิม คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเวียดนาม จะลดการส่งออกลง 15% ในช่วง 6 เดือนนับจากนี้ (มี.ค.-ส.ค.) ซึ่งจะทำให้ซัพพลายยางในตลาดโลกหายไปและราคาน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยในปีนี้คาดความต้องการใช้ยางของโลกจะมีประมาณ 12 ล้านตัน จากปีก่อนมีกว่า 12 ล้านตันเศษ

ปัจจุบันไทยมีการผลิตยางพาราที่ 4.5 ล้านตัน, อินโดนีเซีย 3.7 ล้านตัน, มาเลเซีย 7 แสนตัน, เวียดนาม 1 ล้านตัน โดยทั้ง 4 ประเทศคิดเป็นส่วนแบ่งของการผลิตของโลก กว่า 70% จากทั้งโลกที่มีการผลิต 12.5 ล้านตัน ประกอบกับในช่วงนี้ ระหว่างเดือนมีนาคม–มิถุนายน เป็นช่วงฤดูกาลที่ยางผลัดใบที่ชาวสวนจะหยุดกรีดยาง ส่งผลให้ผลผลิตออกมาน้อย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้

"ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของประเทศ ส่งออกวัตถุดิบยางแผ่น, ยางแท่ง และน้ำยางข้น ประมาณ 7.5 แสนตันต่อปี มูลค่าราว 5.6 หมื่นล้านบาท โดยลูกค้าหลักยังเป็นผู้ผลิตล้อยางรถยนต์ ซึ่งตลาดส่งออกที่ยังมีศักยภาพมาก คือ อินเดีย เนื่องจากยังมีจำนวนรถต่อประชากรน้อย ตก 18 คันต่อประชากร 1 พันคน ขณะที่อินเดียมีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนและยังมีตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เช่น อิหร่าน ส่วนจีนเองแม้เศรษฐกิจจะแย่ลง แต่ก็ยังมีอัตราเติบโตที่สูงและอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ ก็ยังมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ปีละ 2-3%"

นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทยและกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางราคายางในปีนี้ในช่วงสั้นน่าจะดีเพราะเวลานี้เป็นช่วงที่สินค้าไม่มีในตลาด ดังนั้นราคายางคงไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว จากปีที่ผ่านมาถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ ซึ่งการที่กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสามารถช่วยสร้างบรรยากาศและกระตุ้นตลาดให้เกิดความคึกคักขึ้นบ้าง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559