จับตาทุนไทย-เทศ! จับคู่ชิง 'อู่ตะเภา' 2.7 แสนล้าน

03 ธ.ค. 2561 | 10:20 น.
หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดใช้งานสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ เมื่อปี 2559 ทำให้การเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบินที่มาใช้บริการสนามบินแห่งนี้จึงมีการขยายตัวต่อเนื่อง จากผู้โดยสารราว 1.5-1.7 แสนคน 3.39 พันเที่ยวบิน ในปีงบประมาณ 2557 ขยับมาเป็น 7.13 แสนคน 7.88 พันเที่ยวบิน ในปีงบประมาณ 2559 และภายในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการถึง 2.5 ล้านคน จากเที่ยวบินกว่า 2 หมื่นเที่ยวบิน


เปิดประมูลรู้ผล 1 มี.ค. 62
นี่เองจึงทำให้การประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่หลังการเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาซื้อซองประกวดระหว่างวันที่ 16-29 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มี 42 บริษัท จาก 8 ประเทศ เข้ามาซื้อซองประกวดราคา ก่อนเปิดให้เอกชนมายื่นซองประมูลวันที่ 28 ก.พ. 2562 และจะเปิดซองประมูล 1 มี.ค. 2562 จึงถือว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายศักยภาพของสนามบินแห่งนี้


115579

เพราะวันนี้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา ศักยภาพรองรับได้ 3-5 ล้านคน และเมื่อดูจากแนวโน้มวันนี้ อีกไม่กี่ปีก็คงเต็มศักยภาพ ดังนั้น การคัดเลือกให้เอกชนมาร่วมลงทุนในการขยายศักยภาพของสนามบินแห่งนี้ในอนาคต จึงไม่ใช่แค่เพียงการขับเคลื่อนนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เท่านั้น แต่ยังสอดรับกับแผนบริหารจัดการนโยบายด้านการบินของประเทศ ที่มองการพัฒนา 3 สนามบินหลัก คือ ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในอนาคต เฉพาะสถิติที่มีการคาดการณ์กันในวันนี้ จากข้อมูลของ Euromonitor คาดการณ์ว่า ไทยจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 79 ล้านคน ในปี 2573


moweb

วางเฟส 1 รับ 15 ล้านคน
ตามทีโออาร์กำหนดชัดว่า เอกชนที่สนใจจะต้องยื่นแผนการพัฒนาสนามบินและบริหารจัดการสนามบินให้เป็นสมาร์ท แอร์พอร์ต ซึ่งจะประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 2.ศูนย์ธุรกิจการค้า (คอมเมอร์เชียล เกตเวย์) 3.พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี (คาร์โก วิลเลจ หรือ พื้นที่ฟรีเทรดโซน) และ 4.กลุ่มอาคารคลังสินค้า ที่จะลงทุนและบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญาที่รัฐบาลจะให้เป็นเวลา 50 ปี

การลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำในคราวเดียวรับได้ 60 ล้านคน เพียงแต่กำหนดให้สร้างเฟส 1 รองรับผู้โดยสารได้อย่างน้อย 12-15 ล้านคนต่อปี โดยหวังว่าการลงทุนเฟสแรกจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 ส่วนเฟส 2 หรือ เฟส 3 ในทีโออาร์กำหนดไว้เป็นหลักการว่า ถ้าศักยภาพในการใช้บริการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในเฟส 1 อยู่ที่ 80-90% ก็ถึงเวลาที่ต้องขยายในเฟสต่อไป ให้เฟส 2 รองรับได้ 30 ล้านคน เฟส 3 รองรับได้ 60 ล้านคน ซึ่งจะขยายในแบบใดก็จะเปิดกว้างให้เอกชนเสนอแผนที่เหมาะสมในการพิจารณาของเอกชนขึ้นมาได้ เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาที่ดีที่สุด

การลงทุนในส่วนของเอกชนจะอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท การลงทุนของรัฐอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ที่จะลงทุนสร้างรันเวย์ 2 และการลงทุนหอบังคับการบินของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ (บวท.) ราว 4 พันล้านบาท ซึ่งด้วยการลงทุนของเอกชนที่ค่อนข้างสูง จึงมีการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถหารายได้จากการดำเนินธุรกิจการบินและรายได้ในส่วนเชิงพาณิชย์ตลอดอายุสัญญา แลกกับการจ่ายค่าเช่าตามข้อกำหนดของกรมธนารักษ์ ซึ่งอยู่ที่ 3% และการจ่ายผลตอบแทนขั้นตํ่าให้รัฐอยู่ที่ราว 5% หรือ ไม่ตํ่ากว่า 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อหวังล่อใจให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน


จับตาไทย-เทศจับคู่ลงทุน
จากนี้คงต้องรอลุ้นว่า ต่อไปใครจะมาซื้อซองประกวดราคากันบ้างในการเปิดประมูลครั้งนี้ เพราะครั้งนี้เป็นการประมูลในลักษณะอินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง ที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้มีการรวมกลุ่มในลักษณะคอนซอร์เตียม โดยเชิญชวนผู้บริหารและผู้พัฒนาสนามบินระดับโลกเข้าเสนอตัวร่วมลงทุน ในทีโออาร์จึงระบุชัดเจนว่า คุณสมบัติคนที่จะยื่นประมูลจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการสนามบินระดับนานาชาติ ที่มีผู้โดยสารใช้บริการไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนต่อปีต่อสนามบิน มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาและการก่อสร้างสนามบิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ หรือ มีประสบการณ์ด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

ทั้งงานนี้ยังเปิดโอกาสนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย ถือหุ้นเกินกว่า 25% ในการทำคอนซอร์เตียมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งในการทำมาร์เก็ตซาวดิ้งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้เชิญชวนให้ผู้บริหารและผู้พัฒนาสนามบินในต่างประเทศหลายรายเข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารสนามบินจากยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ รวมถึงกลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในสนามบินทั้งของคนไทยและต่างชาติ เข้าร่วมรับฟังข้อมูลมาแล้วกว่า 3 ครั้ง ก่อนการเปิดให้ซื้อซองประกวดราคา ดังนั้น กลุ่มดีเวลอปเปอร์ หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทย ก็มีเวทีได้เห็นหน้าเห็นตากันแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรอดูการจับคู่ประมูลที่จะเกิดขึ้น


mp22-3420-a

โพรไฟล์ผู้บริหารสนามบินโลก
โดยโพรไฟล์ผู้บริหารสนามบินโลกที่มีการเชิญมารับฟังมาร์เก็ตซาวดิ้งก็ไม่ธรรมดา อย่าง "เอวิอัลไลแอนซ์" เป็นบริษัทบริหารจัดการท่าอากาศยานจากประเทศเยอรมนี บริษัทถือหุ้นอยู่ในท่าอากาศยานของเอกชนหลายแห่งทั่วโลก เช่น สนามบินนานาชาติเอเธนส์ สนามบินดุสเซลดอร์ฟ สนามบินฮัมบูร์ก และสนามบินนานาชาติบูดาเปสต์ เป็นต้น ขณะที่ "จีเอ็มอาร์ กรุ๊ป" เป็นบริษัทผู้พัฒนาและบริหารจัดการท่าอากาศยานเอกชนรายใหญ่สุดของประเทศอินเดีย ปัจจุบัน ติดอันดับผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในทำเนียบ Top 5 ของโลก

ขณะที่ "วินชี แอร์พอร์ทส์" ก็เป็นบริษัทผู้พัฒนาและบริหารจัดการท่าอากาศยานชั้นแนวหน้าจากประเทศฝรั่งเศสและเป็นผู้เล่นระดับโลก โดยเป็นผู้พัฒนา ลงทุน ก่อสร้าง และบริหารจัดการสนามบิน 44 แห่ง ทั้งในและนอกประเทศฝรั่งเศส ส่วน "ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริง คอร์ปอเรชั่น" (CSCEC) รัฐวิสาหกิจจากจีน ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในโลก มีประสบการณ์ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินเช็กแล็ปก๊อกที่ฮ่องกง

นอกจากนี้ ในสนามบินอู่ตะเภายังมีการพัฒนาสำคัญอีก 2 โครงการ คือ ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่การบินไทยจะร่วมกับแอร์บัสในการพัฒนาขึ้นมา รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน ที่นำโดย การบินไทยและสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ที่จะเป็น PPP อีกส่วนหนึ่งที่แยกออกไปไม่เกี่ยวกับการทำ PPP ในครั้งนี้

อีกไม่นานเราคงเห็นสนามบินอู่ตะเภาที่พลิกโฉมไปสู่การเป็นมหานครการบินของไทยได้อย่างแท้จริง


รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3420 ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว