ผ่ากลยุทธ์เอสเอ็มอีจีนปรับตัว หนีผลกระทบสงครามการค้า

22 พ.ย. 2561 | 09:33 น.
สถานะบทบาทของจีนที่ตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมาได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” ถึงตอนนี้ก็เริ่มมีเครื่องหมายคำถามขึ้นมาแล้วว่า จะเป็นไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะปัจจุบันหลายบริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน เริ่มออกไปมองหาแหล่งผลิตใหม่ๆในประเทศอื่นๆ กันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนนั่นเอง เหตุผลก็เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯโดยไม่ต้องกังวลเรื่องกำแพงภาษีที่รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งขึ้นสกัดกั้นสินค้าที่ผลิตจากจีนส่งเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า (2562) เป็นต้นไป สินค้าจีนมูลค่านับ 2 แสนล้านดอลลาร์ ที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ จะต้องพบกับอัตราภาษีปรับใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีกจาก 10% เป็น 25%  นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ยํ่าแย่ระหว่างสหรัฐฯและจีนในเวลานี้จะสร้างผลกระทบในระยะยาว

US1 เจรจาตรง-ตัดพ่อค้าคนกลาง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบริบทที่อึมครึมทางการค้าเช่นนี้ ผู้ประกอบการของจีนเองโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้พยายามหาวิธีการช่วยเหลือตัวเองให้ได้รับความเสียหายจากผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งทางหนึ่งก็คือการเสริมเขี้ยวเล็บให้ตัวเองด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะในการติดต่อเจรจากับผู้ซื้อในสหรัฐฯโดยตรง เพื่อเป็นการลดคนกลางหรือบริษัทนายหน้า ยกตัวอย่างคอร์สฝึกอบรมทักษะการเจรจาค้าขายกับต่างชาติบนแอพพลิเคชันยอดนิยมบนโทรศัพท์มือถือวีแชท (WeChat) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของจีนหลายราย พบคำตอบและเพิ่มความมั่นใจในการบุกเจาะตลาดสหรัฐฯแม้จะมีกำแพงภาษีสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยของจีนมักจะไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือมากนักเมื่อเทียบกับบรรดารัฐวิสาหกิจที่มีอยู่จำนวนมากมาย ผิดกับในสหรัฐฯที่มีสำนักงานคณะกรรมการธุรกิจขนาดเล็ก (U.S. Small Business Administration)เป็นหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ มีงบจากกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและบริษัทสตาร์ตอัพ ทั้งยังมีสมาคมการค้าอีกจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ

หาจุดแข็งในการเจรจาต่อรอง

ผู้ประกอบการผลิตหลอดไฟรถยนต์รายหนึ่งจากมณฑลเจียงซูเปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทแม้จะเป็นผู้ผลิตรายย่อยก็ต้องเดินทางไปตระเวนเจรจากับผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าต้องการซื้อในราคาถูกลงเพราะต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราสูงขึ้น ทางบริษัทยอมลดราคาสินค้าให้ 10% เมื่ออัตราภาษี 25% มีผลบังคับใช้ในปีหน้า แต่สิ่งที่บริษัทได้มาเป็นการแลกเปลี่ยนคือ ลูกค้าต้องสั่งซื้อขั้นตํ่าในปริมาณที่สูงขึ้นด้วย “เราต้องเจรจาโดยแสดงจุดยืนที่แข็งแรงขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องต่อรองแต่เรื่องราคาเท่านั้น ถ้าลูกค้าอยากให้เราลดราคา ก็สามารถต่อรองกับเขาในเรื่องเงื่อนไขการชำระเงินหรือระดับคุณภาพสินค้า เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด”

ผู้ประกอบการของจีนส่วนหนึ่งเชื่อว่า ตลาดยังคงเป็นของผู้ขาย เนื่องจากในบรรดาสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากจีนและมีความหลากหลาย ตั้งแต่อาหารแช่แข็ง ที่นอน กระเป๋าเดินทางไปจนถึงบุหรี่ไฟฟ้า เรียกว่าของใช้ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้านั้น มีสินค้าจากประเทศจีนเกือบจะทั้งหมด ดังนั้น ผลกระทบต่อผู้บริโภคจึงมีไม่ใช่น้อยๆ แม้จะมีการพูดถึงการมองหาตลาดใหม่ๆเพื่อสั่งซื้อสินค้าทดแทนสินค้าจากจีนมาเนิ่นนานหลายปี แต่ในความเป็นจริงสหรัฐฯก็ยังต้องพึ่งพาสินค้าจากจีนมากมายอยู่ดี ผู้ซื้อบางรายยอมรับว่า ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าจีนและยังต้องซื้อแม้ว่าจะในราคาแพงขึ้นก็ตามที

china1 ยกตัวอย่าง แซมโซไนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตกระเป๋าเดินทางชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทส่งหนังสือแจ้งต่อผู้ซื้อส่งว่าจะต้องปรับขึ้นราคากระเป๋าเดินทาง 10% ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องมีการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันช่วยแบกรับ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระเป๋าเดินทางมากกว่า 70% ที่ขายกันอยู่ในตลาดสหรัฐฯนั้น เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากแหล่งผลิตในประเทศจีน เรียกได้ว่า นี่คือสินค้าประเภทหนึ่งที่สหรัฐฯต้องพึ่งพาผู้ผลิตในจีนเป็นหลัก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะไม่ได้รับผลกระทบ จากการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์  สมาคมสินค้าเพื่อการเดินทางของสหรัฐฯออกมายอมรับเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตลาดสหรัฐฯพึ่งจีนในฐานะแหล่งผลิตกระเป๋าเดินทางและกระเป๋ากีฬาราว 84%  การจะหาแหล่งผลิตอื่นมาทดแทนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสำหรับสินค้าประเภทนี้ จีนมีศักยภาพมากที่สุดทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ

นอกจากกระเป๋าเดินทางและกระเป๋ากีฬาแล้ว สินค้าอื่นๆที่ตลาดยังเป็นของผู้ขาย(จีน) ก็เห็นจะได้แก่ จักรยาน (ขนาดวงล้อ 25 นิ้วหรือเล็กกว่านั้น) ที่จีนครองตลาดสหรัฐฯ อยู่ถึง 92%  หลอดไฟแอลอีดี 90% และปลานิล(หั่นชิ้น) แช่แข็ง 85% และนี่ก็เป็นตัวอย่างบางส่วนอันน้อยนิดเท่านั้น

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,420 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว