เงินเฟ้อยูโรโซนพลิกติดลบ คาดอีซีบีออกมาตรการเพิ่มในการประชุมสัปดาห์หน้า

04 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซนกลับลงไปติดลบอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ จากผลของราคาน้ำมันและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นับเป็นปัจจัยกดดันระลอกล่าสุดต่อธนาคารกลางยุโรปที่มีกำหนดประชุมในสัปดาห์หน้า

สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรปเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในภูมิภาคยูโรโซนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ติดลบ 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมกราคม นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีก่อนและอ่อนแอกว่าความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์

เงินเฟ้อที่ติดลบในเดือนที่ผ่านมานับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 1 ปี สร้างความกังวลใจว่ายูโรโซนกำลังจะก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืดยืดเยื้อ ข้อมูลล่าสุดทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี จะใช้โอกาสการประชุมในระหว่างวันที่ 9 และ 10 มีนาคม ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในรูปของการเพิ่มการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) และลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ

เมื่อครั้งที่เงินเฟ้อปรับลดลงสู่ระดับติดลบในระหว่างเดือนธันวาคม 2557 และมีนาคม 2558 ทำให้อีซีบีตัดสินใจประกาศมาตรการคิวอีออกมาเป็นครั้งแรก โดยตั้งเป้าหมายซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงเดือนกันยายน 2559 ก่อนที่เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อนจะตัดสินใจขยายเวลาออกไปถึงเดือนมีนาคม 2557 ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถูกปรับลดสู่ระดับ -0.3%

ราคาพลังงานต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อยูโรโซนปรับลดลง อย่างไรก็ดี ราคาในภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจก็มีบทบาทต่อการปรับลดของเงินเฟ้อเช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อหลัก ซึ่งไม่รวมพลังงานและอาหาร ลดลงเหลือ 0.8% จาก 1% เมื่อเดือนมกราคม ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีก่อน

"มีความเสี่ยงที่ชัดเจนว่าภาวะเงินฝืดอ่อนๆ ในยูโรโซนจะคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนยังอ่อนแอ" ฮาเวิร์ด อาร์เชอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ให้ความเห็น

ด้าน เทอูนิส โบรเซนส์ นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็นจี แบงก์ กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อหลักที่อ่อนแอแทบจะเป็นการยืนยันว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมสัปดาห์หน้า "เงินเฟ้อหลักที่อ่อนแอลงแสดงให้เห็นถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นจริงจากราคาน้ำมันที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำแพร่กระจายสู่ระบบราคาและค่าแรงของยูโรโซน สถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีโดยเฉพาะกับครัวเรือน ธุรกิจและรัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สินในยุโรปใต้"

ดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ของยูโรโซนเริ่มบ่งชี้ว่าสถานการณ์น่ากังวล ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ที่เปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนแสดงให้เห็นว่าการเติบโตในเดือนกุมภาพันธ์มีโอกาสที่จะอ่อนแอที่สุดในรอบปี ขณะที่ผลสำรวจโดยคณะกรรมาธิการยุโรปแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดทำให้เกิดคำถามว่าเครื่องมือที่ธนาคารกลางมีอยู่เพียงพอสำหรับกระตุ้นการเติบโตและเงินเฟ้อหรือไม่ อนาโตลี อันเน็นคอฟ นักเศรษฐศาสตร์จากโซซิเอเต้ เจเนอรัล กล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของอีซีบี แม้ว่าความพร้อมของอีซีบีจะไม่มีขีดจำกัดแต่ผลลัพธ์ที่ได้มีข้อจำกัดอย่างชัดเจน

"แม้ว่าจะอีซีบีจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ความท้าทายในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อต่ำเป็นงานยาก เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายปีนี้เป็นปีที่ 4 และเราคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายไปอีก 4 ปีเป็นอย่างน้อยถ้าไม่มีความช่วยเหลือจากการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม" อันเน็นคอฟกล่าว

ก่อนหน้านี้ องค์กรเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ต่างออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลแต่ละประเทศไม่สามารถพึ่งพานโยบายการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว พร้อมกับเรียกร้องให้เร่งการปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559