'ทีเอ็มบี' แก้ปัญหาเด็กบกพร่องทางการได้ยิน

20 พ.ย. 2561 | 02:14 น.
การช่วยเหลือสังคมของ 'ทีเอ็มบี' กับการริเริ่มโครงการ "ไฟ-ฟ้า" โดยอาสมัครทีเอ็มบี เปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "Make THE Difference เปลี่ยน ... เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น" โดย 1 ใน 37 โครงการของปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ "มิราเคิล ออฟ ซาวด์" โครงการที่รวบรวมองค์ความรู้เพื่อชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย และสนับสนุนด้านการสื่อสารให้สังคมได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการรักษาภาวะบกพร่องทางการได้ยินของเด็ก ๆ เพื่อช่วยการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต

คุณปิติ ตัณฑเกษม

"ปิติ ตัณฑเกษม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีมองเห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มพ่อแม่ หมอ และอาจารย์ในชมรมประสาทหูเทียมฯ ที่ร่วมมือกันมายาวนานถึง 5 ปี ในการก่อตั้งเป็นชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต ทีเอ็มบีจึงสนับสนุนการยกระดับชมรมประสาทหูเทียมฯ เพื่อก้าวไปสู่การจัดตั้งเป็นสมาคมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย และรับเป็นที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่องไปอีก 1 ปี

"สรเทพ โรจน์พจนารัช" กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย ได้เล่าให้ฟังถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งชมรมประสาทหูเทียมฯ ว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมเกี่ยวกับภาวะความบกพร่องทางการได้ยิน ที่ไม่ใช่อาการหูหนวก ยังสามารถรักษาให้หายได้ หากรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งผลักดันให้ภาครัฐฯ ยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องค่ารักษาแก่เด็กที่มีภาวะความบกพร่องทางการได้ยินได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่สำเร็จเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้ว คือ ลูกข้าราชการสามารถเบิกค่าผ่าตัดและค่าอุปกรณ์ได้ 80% มีการออกกฎหมายบังคับให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำการทดสอบการได้ยินของเด็กแรกเกิดทุกคน มีการจัดตั้งศูนย์การฝึกการพูดทั่วประเทศ ช่วยฝึกพูดหลังการผ่าตัดเพื่อให้เด็กพูดได้เป็นปกติ

"สิ่งที่เราจะผลักดันต่อไป คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่ผ่าตัดใช้ประสาทหูเทียม ต้องมีสิทธิสมัครเข้าเรียนโรงเรียนใดก็ได้ และจะเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้เด็กทั่วไปที่ไม่ได้เป็นลูกข้าราชการสามารถเบิกค่ารักษาได้ด้วย"


ดช อดุลวิทย์ โรจน์พจนารัช และครอบครัว

จากชมรมเล็ก ๆ เรากำลังจะจัดตั้งเป็นสมาคมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทยในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า 'ทีเอ็มบี' ให้การช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนด้านข้อมูลในการดำเนินการ เพื่อขอจัดตั้งสมาคมและจัดทำวิดีโอคอนเทนต์ เพื่อให้ความรู้เรื่องการฝึกสอนการพูดแก่เด็กที่ไม่ได้ยินเสียงในช่วงฟื้นฟูการพูดหลังการผ่าตัด และทีเอ็มบียังจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยถูกพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองสามารถกู้เป็นค่าผ่าตัดและค่าอุปกรณ์

"ผศ.พญ.จรินรัตน์ สิริรัฐวรรณ" รองคณบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาควิชาโสต สอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ แพทย์ที่ปรึกษาในชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการได้ยินเสียงของเด็กส่วนใหญ่ ว่า มาจากการตั้งครรภ์ของคุณแม่ดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหน บ้านเราพาเด็กมารักษาช้า เมื่อเด็กมีอายุ 3-4 ขวบแล้ว อาจเพราะรู้ช้า หรือ บางรายปฏิเสธการรักษา ขอแนะนำให้พาเด็กแรกเกิดตรวจทดสอบการได้ยิน หลังจากนั้นให้สังเกตเมื่อพูดคุยกับลูก โดยอยู่ด้านหลังเด็กแล้วลองเรียกเขา ถ้าเขาไม่ตอบเสียงเรียก ก็อาจจะมีอะไรผิดปกติ หรือ เมื่อเด็กอายุ 1 ขวบ แล้วยังไม่เรียกพ่อ แม่ ควรนำเด็กมาตรวจการได้ยินเสียง อย่างช้าไม่เกินขวบครึ่ง อย่าปล่อยให้ประสาทหูเสื่อมมากจนกลายเป็นหูหนวก จะไม่สามารถรักษาได้ ในรายที่ประสาทหูเสื่อมไม่มากให้ใช้เครื่องช่วยฟัง แล้วฝึกพูด ฝึกฟัง ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติ


ความสามารถในการเต้น เป็นอีกคลาสของเด็กไฟ-ฟ้า

สำหรับรายที่หูเสื่อมมากใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล ควรรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม การผ่าตัดยิ่งเร็วยิ่งดี ผ่าตอน 1 ขวบ เด็กจะตามกันทันที่ 3-4 ขวบ แต่ถ้าผ่าหลัง 5-7 ขวบไปแล้ว พัฒนาการด้านการได้ยินของเด็กจะช้าลง วันแรกที่เปิดเครื่องประสาทหูเทียม คือ วันแรกที่เด็กได้ยิน ซึ่งเขาจะต้องได้รับการฝึกฟัง ฝึกพูด จนกว่าจะสามารถพูดได้เป็นปกติในอีก 2 ปีถัดไป

สำหรับผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางการได้ยินเสียงสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมประสาทหูเทียมฯ สามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : ชมรมประสาทหูเทียมแห่งประเทศไทย

e-book-1-503x62-7