บอร์ดบีโอไอไฟเขียว "3 โครงการใหญ่"

19 พ.ย. 2561 | 08:47 น.
บอร์ดบีโอไออนุมัติผลิตรถไฮบริด–อีอีซีไอ "วังจันทร์วัลเลย์" มูลค่ากว่า 21,774 ล้านบาท จับตารถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กจากจีนขยายฐานมาไทยครั้งแรก เปิดตลาดอาเซียน ด้าน "ออโต้อัลลายแอนซ์" ลงทุนรถยนต์ไฮบริด และ ปตท. เดินหน้าในเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 21,774.6 ล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง


download

ประกอบด้วย

1.บริษัท โปรเจน โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,693 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา โดยโครงการนี้ เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท โปรเจนกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกรายใหญ่ ที่ขยายฐานการผลิตจากเดิมที่มีโรงงานผลิต 5 แห่งในประเทศจีน เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อรองรับตลาดในแถบอาเซียน ทั้งนี้ รถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกที่ผลิตได้ในโครงการนี้จะเป็นประเภทที่ได้มาตรฐานการปล่อยไอเสียระดับยูโร 5 และจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ระบบปรับอากาศ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายใน มูลค่ารวมประมาณ 13,702 ล้านบาทต่อปี

2.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) เงินลงทุนทั้งสิ้น 11,481.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยบริษัทได้เสนอแผนงานรวมในการลงทุนตามที่กำหนด อาทิ โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิต หรือ ใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ โครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศ มีมูลค่ารวมกว่า 19,461 ล้านบาทต่อปี

และ 3.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ จะครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.ARIPOLIS หรือ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเครื่องจักร, 2.BIOPOLIS หรือ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และ 3.SPACE INNOPOLIS หรือ ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ

สำหรับภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย. 61) ว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 377,054 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10 (ม.ค. - ก.ย. 60 จำนวน 1,021 โครงการ) ขณะที่ เงินลงทุนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 373,908 ล้านบาท


download

นางสาวดวงใจ กล่าวต่อไปอีกว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 69 โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 525 โครงการ เงินลงทุนรวม 290,482 ล้านบาท (อุตสาหกรรมเป้าหมายในช่วง 9 เดือนของปี 60 มีมูลค่า 171,584 ล้านบาท) อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองมา คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล เป็นต้น

"การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีจำนวน 288 โครงการ ขยายตัวร้อยละ 13 (ช่วง 9 เดือนของปี 60 มีจำนวน 255 โครงการ) และมีมูลค่าเงินลงทุน 230,554 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117 (ช่วง 9 เดือนของปี 2560 มีมูลค่าเงินลงทุน 106,126 ล้านบาท)"

บาร์ไลน์ฐาน