'วิษณุ' แจงคำสั่ง คสช. ไม่ส่งผลกระทบต้องเลื่อนเลือกตั้ง

19 พ.ย. 2561 | 07:13 น.
'วิษณุ' แจงคำสั่ง คสช. ไม่ส่งผลกระทบต้องเลื่อนเลือกตั้ง ชี้! แค่ใช้คุ้มครอง กกต. ป้องกันการถูกฟ้อง หลังแบ่งเขตไม่ทันตามประกาศ ยืนยัน ไม่ได้เอื้อบางพรรคการเมือง คาด พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ประกาศหลังกฎหมาย ส.ส. มีผลบังคับใช้ 10 วัน



วิษณุ 1

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 ขยายเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ว่า เหตุผลที่ออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากต้องการคุ้มครองคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ให้มีความผิด เพราะก่อนหน้านี้ กกต. ได้ออกประกาศเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่กำหนด แต่ไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย รวมถึงภายใน กกต. มีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ โดยบางส่วนคิดว่า หากต้องเร่งดำเนินการ ถ้าได้แค่ไหนเอาแค่นั้น แต่มันคงไม่ดี จึงต้องทำให้ครบเรียบร้อย ดังนั้น แม้ กกต. จะเป็นผู้กำหนดเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า เป็นเมื่อใด ถือเป็นการมัดตัวเอง และมีผู้ร้องเรียนมาถึง คสช. และ กกต.

"จึงมีความคิดกันว่า ต้องออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ที่มีลักษณะเป็นเชิงบริหารเพื่อคุ้มครอง กกต. ให้สามารถพิจารณา หรือ ดำเนินการแบ่งเขตเสียใหม่ได้ โดยไม่กระทบกับเวลาใด ๆ ในโรดแมปทั้งสิ้น เพราะของเดิมการแบ่งเขตเลือกตั้งจะทำให้เสร็จเมื่อไรก็ได้ ภายในวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งเมื่ออยากให้กระบวนการต่าง ๆ รวดเร็ว แต่ติดที่การแบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้า จึงเหลือเวลาทำไพรมารีโหวตไม่ถึง 30 วัน เราจึงยืดให้ทำไพรมารีโหวตให้ได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงปลายเดือน ธ.ค. คาดว่า 10 วัน หลังจากวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่ง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง จะเป็นตัวคุมไทม์ไลน์ทั้งหลาย และเมื่อ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ประกาศใช้ จะเริ่มหาเสียงได้ และต้องปลดล็อคคำสั่งและประกาศของ คสช."

นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้มีการร้องเรียนมานานแล้ว โดยที่ประชุม คสช. ได้พิจารณา 2 ครั้ง ส่วนจะมีพรรคการเมืองใดร้องเรียนเข้ามาบ้าง กกต. คงมีการเปิดเผยต่อไป ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะพรรคการเมือง แต่มีชาวบ้านที่ร้องเรียนเข้ามาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวอะไรกับการเลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งตนเองเคยบอกไปแล้วว่า เราเริ่มต้นทุกอย่างในวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ส่วนกระบวนการต่าง ๆ ที่พูดถึง คือ กระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการก่อนวันที่ 11 ธ.ค. ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงวันที่กฎหมาย ส.ส. มีผลบังคับใช้ มันจะเกิดความยากลำบาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ คสช. ออกคำสั่งดังกล่าว ทำให้ถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต. หรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ได้ไปแทรกแซงอะไร ไม่ได้มีการไปบอกให้แบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร อำนาจยังเป็นของ กกต. อยู่ แต่เมื่อ กกต. ไปประกาศตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และทำตามที่ประกาศไว้ไม่ได้ ดีไม่ดีจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น จนการเลือกตั้งจะเสีย ถ้ายังดำเนินการต่อไป

ดังนั้น เวลาที่ กกต. ได้กำหนดไว้เองตั้งแต่ต้น แล้วไม่สามารถทำตามให้เสร็จได้ และจะมากำหนดใหม่ มันก็ไม่สวยงาม ประโยคสำคัญในคำสั่งหัวหน้า คสช. จึงระบุว่า ให้ไปจัดการดูใหม่และคุ้มครอง กกต. ตามรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าจะโดนฟ้อง ไม่ได้เป็นการไปแทรกแซงอะไร

ส่วนกรณีที่ว่า เรื่องนี้ กกต. เป็นคนร้องขอให้ คสช. ออกคำสั่งคุ้มครองใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีการพูดคุยกัน แต่ตนเองไม่ทราบว่า กกต. ร้องขอหรือไม่ เพราะไม่ได้ไปพูดคุยด้วย

"คนไม่รู้ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลัง กกต. อยู่ด้วยความไม่มั่นใจ ว่า ถูกหรือผิด จึงออกคำสั่งนี้ให้มันถูกเสีย เพราะคนจ้องจะเล่นงานเขามีอยู่ พอดีพอร้ายเดี๋ยวเลือกไปจะมีปัญหา ดีกว่าปล่อยให้เล่นงานไปแล้ว และการเลือกตั้งมีปัญหา เช่น เลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนคราวที่แล้ว แต่ตอนนี้แม้ กกต. ถูกเล่นงานใหญ่ก็ไม่มีปัญหา" นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการมองว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการเอื้อให้กับบางพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการต่าง ๆ ไม่เรียบร้อยหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่ใช่ การดำเนินการของพรรคจะเรียบร้อยหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งจะต้องออกมาอย่างนั้น แล้วเรายังไม่เคยเห็นด้วยว่า กกต. แบ่งเขตกันอย่างไร บางคนอาจจะรู้คร่าว ๆ แต่ของจริงไม่มีใครรู้

เมื่อถามถึงกรณีพรรคการเมืองขนาดเล็กเตรียมยื่นให้ กกต. เลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัว นายวิษณุ บอกว่า ไม่ขอออกความเห็น เมื่อถามย้ำว่า เวลาที่เหลืออยู่ถือว่าเพียงพอสำหรับการเตรียมตัวของพรรคการเมืองต่าง ๆ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อวันนี้ได้กำหนดวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 24 ก.พ. 2562 จึงคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่สุด และขณะนี้ยังไม่มีอะไรแสดงว่า การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว