จีดีพี Q3/2561 ขยายตัว 3.3% !! สศช. ระบุ 9 เดือน เศรษฐกิจโต 4.3% คาดปีหน้า GDP ขยับแตะ 4.0%

19 พ.ย. 2561 | 04:05 น.
สภาพัฒน์ เผย จีดีพีไตรมาส 3 โต 3.3% เหตุส่งออก-เกษตร-อุตสาหกรรม-โรงแรม-ภัตตาคารชะลอตัว คาดปีหน้าโต 3.5-4.5% แนะรัฐบาลเร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีน ขับเคลื่อนส่งออก เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดูแลผู้มีรายได้น้อย เตือนเศรษฐกิจโลกและตลาดเงินผันผวนจากดอกเบี้ยขาขึ้น-มาตรการกีดกันการค้าเร่งตัวขึ้นรวมทั้งเศรษฐกิจจีนและเงินหยวนอ่อนค่ายังเป็นปัจจัยเสี่ยง

วันที่ 19 พ.ย. 2561 - นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ปี 2561 ขยายตัว 3.3% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 4.6% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.3%


40669

สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวต่ำด้วยปัจจัยมาตรการกีดกันการค้าแพ็กเกจที่ 2 ซึ่งครอบคลุมสินค้า 5,000 รายการ ที่บังคับใช้เฟสแรกเดือน ก.ย. เริ่มสร้างแรงกดดันการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลลบต่อภาคส่งออกไทย และผลจากภาคการท่องเที่ยวชะลอลง

ในด้านการผลิต การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม ขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนการผลิตภาคเกษตร สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม 9 เดือนแรก จีดีพีขยาตตัว 4.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ขยายตัว 3.8% โดยทั้งปีนี้ สศช. ประเมินการเติบโตไว้ที่ระดับ 4.2% (กรอบ 4.2-4.6%)


40670

ส่วนแนวโน้มปี 2562 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคเอกชนโดยโครงการภาครัฐ และคาดว่าความพยายามภาครัฐในการออกมาตรการจะดึงภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมาในปีหน้า

"จับตาเศรษฐกิจโลกชะลอแนวโน้มผันผวนและตลาดเงินช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และมาตรการกีดกันการค้าและเศรษฐกิจจีนกับเงินหยวนที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยเสี่ยง"

สำหรับช่วง 9 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน มีรายรับ 2.05 ล้านล้านบาท แนวโน้มปีหน้าคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีจำนวน 39.8 ล้านคน รายรับรวมประมาณ 2.24 ล้านล้านบาท


40671

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.4 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีแรงสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง (2) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนรวม โดยการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง (3) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว (4) การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง และ (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าการผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.8 ของ GDP

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการฟื้นตัวและขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ควบคู่กับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง และการกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชน

(2) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ และการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า

(3) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยสนับสนุนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการ และมาตรการสำคัญในช่วงหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง

(4) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(5) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และ (6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน


บาร์ไลน์ฐาน