ประวัติศาสตร์ รีดภาษีทรัพย์สิน

18 พ.ย. 2561 | 11:42 น.
ในที่สุดสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยคะแนนเสียง 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง หลังจากรัฐบาลพยายามผลักดันออกกฎหมายฉบับนี้มาแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า และกระจายการถือครองที่ดินในประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ

แต่รัฐบาลที่มาจากการบริหารประเทศในสถานการณ์พิเศษ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถผลักดันจนทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้ แม้จะใช้เวลาในการพิจารณากฎหมายยาวนานที่สุดถึง 2 ปีครึ่ง ใช้เวลาในการแปรญัตติยาวนานที่สุดถึง 20 เดือน จนต้องมีการขอยกเว้นข้อบังคับของรัฐสภา เพื่อขยายระยะเวลาในการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการเป็นการเฉพาะ

การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ของสนช.จึงถือเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐสภา เพราะกฎหมายภาษีทรัพย์สินฉบับนี้ถือเป็นต้นธารของการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าในการถือครองทรัพย์สินของประชาชนในประเทศที่ฝังรากลึก คนรวยกระจุก จนกระจาย โดยผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดินพบว่า ที่ดินที่มีการครอบครองโดยประชาชนทั่วไป 130-135 ล้านไร่นั้น มีมากกว่า 85-90% ของที่ดินทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในมือของกลุ่มคนแค่ 6-7 ล้านคน หรือเพียง 10%

ขณะที่โครงการวิจัยนโยบายและมาตรการการคลัง เพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ สำรวจพบว่า 50 รายแรก จาก 1.46 ล้านราย ถือครองที่ดินอยู่กว่า 10% ของที่ดินในกรุงเทพมหานครทั้งหมด

[caption id="attachment_349434" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ดินในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่อยู่ถึง 70% ขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ รวมถึงเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศกว่า 40% เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่

บทบัญญัติของกฎหมายที่มุ่งเน้นการเก็บภาษีจากผู้ครอบครองที่ดินจำนวนมากชาร์จภาษีเอาจากคนรวยที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก หากไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ใครครอบครองที่เพื่อเก็งกำไรจะถูกเรียกเก็บภาษี แม้จะเริ่มต้นด้วยการลดเพดานภาษีลงมาจากร่างกฎหมายฉบับที่ยกร่างโดยรัฐบาล แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทรัพย์สินฉบับนี้ จะไร้ความหมาย ไม่มีสภาพบังคับใช้ หากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ปฏิบัติ หวั่นเกรงนายทุนไม่กล้าจัดเก็บหรือเพิ่มพิกัดอัตราตามเพดานที่กำหนดไว้ บันไดที่ถูกสร้างไว้จะเป็นเพียงแค่ทางผ่านให้ก้าวเดิน แต่จะไม่เป็นกระดานหกในการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศโดยเด็ดขาด

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3419 ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย.2561
595959859