ยึด597ล้านอดีตบิ๊กสรรพากร ป.ป.ช.ชี้มูล ‘สุวัฒน์’ ร่ำรวยผิดปกติ/ทุจริตโกงคืนภาษี

06 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 ร่ำรวยผิดปกติ พร้อมทั้งขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวนกว่า 597 ล้านบาท

[caption id="attachment_35468" align="aligncenter" width="367"] พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ  ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ
ประธานกรรมการ ป.ป.ช.[/caption]

พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาข้าราชการกรมสรรพากรกับพวกว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จและพบว่ามีเงินขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตข้าราชการสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 เป็นจำนวนมาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง

ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 75 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยมีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนและต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งให้นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุคคลอื่นที่ถือทรัพย์สินไว้แทน ตามแบบแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 79 รวมทั้งมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ คู่สมรส บุตร และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จำนวน 49,972,033.62 บาท นั้น

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า มีเงินจากกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการส่งออกที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบ จำนวน 26 บริษัท ได้ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์และบุคคลใกล้ชิด เป็นเงิน 415,897,041.98 บาท และยังตรวจพบทรัพย์สินจำนวนมากของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ทั้งที่อยู่ในชื่อของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ คู่สมรส บุตร และญาติพี่น้องของคู่สมรส รวมทั้งพฤติการณ์ที่นำทรัพย์สินไปไว้ในชื่อของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ไม่สามารถชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สินได้ จึงมติว่านายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ รวมมูลค่า 597,728,229.48 บาท ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ได้มีการถอนปิดบัญชี หรือนำไปจำหน่ายจ่าย โอน หรือซื้อทรัพย์อื่นในชื่อของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ คู่สมรส บุตร และบุคคลอื่นที่ถือครองแทน ได้แก่ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 8 บัญชี เงินฝากหลักประกัน ดอกผล และเงินลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 5 แห่ง ที่ดิน จำนวน 15 แปลง และรถยนต์ จำนวน 1 คัน ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติด้วย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้เป็นการชั่วคราวแล้ว จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแทนด้วย ตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ดังกล่าว

อนึ่ง คดีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อันเป็นเท็จ เป็นคดีครึกโครมของกรมสรรพากรในปี 2556 ซึ่งกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการโกงภาษีได้สร้างเครือข่ายบริษัทที่เป็น Paper Company ขึ้นมาเพื่อขอคืนแวต ซึ่งจากการสุ่มตรวจกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล เบื้องต้นกรมสรรพากรพบความผิดปกติการขอคืนแวตมูลค่า 2.6 พันล้านบาท ต่อมากระทรวงการคลังประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมกลุ่มบริษัท 30 แห่ง ซึ่งกรมสรรพากรได้อนุมัติคืนแวต โดยกระทรวงการคลังได้มีการแต่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นขยายผล

ขณะเดียวกันทางป.ป.ช.ก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมา 2 ชุดประกอบด้วย คณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการที่มีส่วนร่วมรู้เห็นกับกระบวนการโกงแวต และคณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติ และประสานดีเอสไอในการตรวจสอบ ทั้งนี้ จากสำนวนคดีมีการตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการกรมสรรพากร 18 คนมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับกรณีโกงแวต โดยในจำนวนดังกล่าวมีข้าราชการซี 9 กรมสรรพากร 2 คน คือ

นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ 27 และอดีตข้าราชการซี 9 กรมสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (เขตบางรัก) โดยป.ป.ช.ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลทั้ง 2 มาก่อนหน้าแล้ว ขณะที่อดีตข้าราชการซี 9 เขตบางรักทางคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ที่มีนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานมีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกเป็นรายแรกเมื่อกลางปี 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559