"สามพรานโมเดล" จัดตั้งอะคาเดมี ต่อยอดความสำเร็จ "เกษตรอินทรีย์"

18 พ.ย. 2561 | 04:05 น.
"สามพรานโมเดล" ต่อยอดการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ จัดตั้ง "สามพรานโมเดล อะคาเดมี" ชวนคนไทย "เท่นอกกรอบ" กินอย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนโลกให้สดใส



คุณอรุษ นวราช

นายอรุษ นวราช ผู้บริหารสวนสามพรานและริเริ่มสามพรานโมเดล เจ้าของแนวคิด "สามพรานโมเดล อะคาเดมี" เปิดเผยว่า ในปี 2562 สามพรานโมเดลมีแผนจะขยายงานเผยแพร่ความรู้จากการขับเคลื่อน โดยจะเปิด "สามพรานโมเดล อะคาเดมี" เป็นศูนย์กลางรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม ที่ได้พัฒนาขึ้นระหว่างการขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีแผนจัดกิจกรรมอบรมเพื่อส่งเสริมความรู้และสร้างประสบการณ์ให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้าใจคุณค่าห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ซึ่งจะจัดทำทั้งหลักสูตรพื้นฐาน เช่น การบริหารจัดการแปลงอินทรีย์ การเชื่อมตลาด เชื่อมผู้บริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการแปรรูป ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และระบบมาตรฐานอินทรีย์สากล รวมถึงการบริการจัดการขยะอาหารในโรงแรม (Food Waste) และหลักสูตรเฉพาะตามความสนใจขององค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น

"ตลอด 8 ปีในการขับเคลื่อน เราเรียนรู้ไม่หยุด ระหว่างทางเจอปัญหามากมาย แต่ทุกปัญหาที่เจอ คือ ครู หลายครั้งที่ผิดพลาด ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะแก้ไข ถ้าเราแก้ปัญหาได้ เราก็มีองค์ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก มันไม่ได้ล้มเหลวทั้งหมด และแน่นอน เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทาง มีเครือข่าย ซึ่งเราทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน ชุมชน เกษตรกร เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย" นายอรุษ กล่าว

จากความสำเร็จในการสร้าง "สามพรานโมเดล" ที่ใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์การทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ 8 ปี บวกกับความรู้การขับเคลื่อน Organic Tourism ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนก่อเกิดนวัตกรรมและบทพิสูจน์ความสำเร็จในการสร้างระบบอาหารสมดุลอย่างเป็นรูปธรรม ครบทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน

"สามพรานโมเดล อะคาเดมี" เตรียมคิ๊กออฟในงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 5 ที่จะกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค. 2561 ที่สวนสามพราน และในงานจะมีการพูดคุยบนเวทีเสวนา หัวข้อ "เปิดเส้นทางขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล"




คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ซื้อวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรส่งเข้าห้องอาหารของโรงแรม เพื่อปรุงเมนูออร์แกนิกบริการแก่ลูกค้า เริ่มจากซื้อข้าวอินทรีย์จากกลุ่มข้าวสัจธรรม จ.อำนาจเจริญ เดือนละ 1,200 ตัน ผ่านโครงการ Farm to Functions และขณะนี้ขยับมาซื้อผักผลไม้อีกเดือนละ 1 ตัน จากเครือข่ายของเกษตรกรอินทรีย์ จ.นครปฐม

"โรงแรมใช้ผัก-ผลไม้เยอะมาก เราไม่สามารถทำบุฟเฟ่ต์ผัก-ผลไม้ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดได้ เพราะผลผลิตไม่เพียงพอ แต่เราครีเอทเมนูออร์แกนิกจานพิเศษ เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ซึ่งหนึ่งช่องสื่อสารที่ช่วยกระตุ้นที่ให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของออร์แกนิก ที่ไม่เฉพาะดีต่อสุขภาพ แต่ดีต่อห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ"


IMG_6665

นางดาราวรรณ ศรีรัตนประภาส ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล เล่าว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยรับซื้อผลผลิตไปว่างจำหน่ายในท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีความต้องการพืช-ผัก-ผลไม้อินทรีย์เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับสามพรานโมเดล มีการทำ MOU รองรับผลผลิต แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ผลผลิตไม่เพียงพอ โดยเฉพาะฝรั่ง ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากรสชาติอร่อย มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและพร้อมที่จะจ่าย

นางปัญจพร คู่สามารถ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เล่าว่า มิตรผลทำงานประสานกับเกษตรกร 10,000 ครอบครัว ดูแลคน 100,000 คน มีโจทย์ว่า ถ้าเกษตรกรปลูกอ้อยอย่างเดียวจะมีรายได้แค่ปีละครั้ง แต่การปลูกพืชผักอินทรีย์จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งปีและมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพบริโภค โดยให้หลักคิดว่า แทนที่จะปลูกอ้อยอย่างเดียว 50 ไร่ แบ่งพื้นที่มา 5 ไร่ เพื่อปลูกผักสวนครัวไว้กิน ที่เหลือแบ่งขาย และท้ายที่สุด บริษัทสนับสนุนให้เกิดตลาดนอกชุมชน ผลักดันให้สินค้าเข้าไปขายในห้าง ในจังหวัด ในอำเภอ เป็นต้น ซึ่งมิตรผลยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ จึงต้องมาเรียนรู้และทำงานร่วมกับสามพรานโมเดล เพื่อไปพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ให้พึ่งตนเองได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน


_U3A5049

ด้าน รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การบริโภคในปัจจุบันนี้ ว่า มีงานวิจัยพบว่า ผู้บริโภคมีความตื่นตัวมาก ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนซื้อกับคนขาย แต่ผู้บริโภคอยากมามีส่วนร่วม ต้องการรู้ว่า สิ่งที่บริโภคไปผลิตมาจากไหน จะมีส่วนทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นหรือไม่ เป็นกระแสที่เรียกว่า Active consumer ผู้บริโภคลุกขึ้นมาทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม

"การทำเกษตรอินทรีย์ คือ การคิดนอกกรอบแบบเดิม เริ่มต้นจากเกษตรกรออกจากกรอบเดิม ไม่พึ่งพาสารเคมี ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หันมาเลือกบริโภคออร์แกนิก ส่วนผู้ประกอบการก็ออกนอกกรอบเดิม ๆ หันมาทำธุรกิจเกื้อกูลสังคม สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซื้อตรงจากเกษตรกร ไม่เฉพาะสุขภาพดี แต่ยังช่วยเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรก้าวสู่วิถีอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น" นายอรุษ กล่าวทิ้งท้ายก่อนปิดเวที


_U3A4363

"สามพรานโมเดล" เป็นแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนทางสังคม ที่ถือเป็นจุดเชื่อมที่สร้างสรรค์ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องบนห่วงโซ่อาหารได้มาเจอกัน มาแชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และลงมือทำร่วมกัน จนก่อให้เกิดสังคมอินทรีย์มิติใหม่แห่งการบริโภค สู่การสร้างวิถีชีวิตที่สมดุล ตอบโจทย์ความยั่งยืน ครบทุกมิติ ทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน

สำหรับ "สามพรานโมเดล อะคาเดมี" จะเปิดตัวขึ้นครั้งแรกในงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 5 "เท่นอกกรอบ ... ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล" ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค. 2561 ณ สวนสามพราน ผู้สนใจเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกกับ "สามพรานโมเดล อะคาเดมี" พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิสังคมสุขใจ จ.นครปฐม อีเมลล์ : [email protected]

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว