Sustainable Banking กลไกสำคัญสร้างความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจ

18 พ.ย. 2561 | 02:00 น.
ท่ามกลางกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ประเด็นด้านความยั่งยืนเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลและส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสำเร็จ และส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) นั่นคือ เรื่องของ "Sustainable Banking" หรือ "การธนาคารเพื่อความยั่งยืน" ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้นิยามของ Sustainable Banking ไว้ว่า "เป็นการธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคมในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น โดยดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี"

อีกนิยามหนึ่งจากกลุ่มความร่วมมือเพื่ออนาคต (Forum for the future)* ได้ให้นิยามของ Sustainable Finacnce หรือ "การเงินที่ยั่งยืน" ว่า "คือ การจัดสรรการเงินและผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงให้กับโครงการและธุรกิจที่ส่งเสริมและไม่บั่นทอนความเจริญทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรมทางสังคม" ซึ่งนิยามนี้มีทั้งมิติของการเสริมสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของธนาคาร มิติของการช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมิติทางสังคมที่คำนึงถึงความยุติธรรมและยังครอบคลุมการช่วยส่งเสริมสวัสดิการชุมชน หรือ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

จากนิยามของ Sustainable Banking และ Sustainable Finacnce ข้างต้น ล้วนพุ่งเป้าไปที่วิธีการดำเนินงานของธนาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีจำนวนมากและครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการดำเนินงานของธนาคารไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เพียงพอหรือไม่เพียงพอ ล้วนสามารถส่งต่อผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียได้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกอย่างแน่นอน *(www.forumforthefuture.org)


ธนาคารเพื่อความยั่งยืนสำคัญอย่างไร?

... โลกเราผ่านวิกฤตการเงินระดับประเทศที่ลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกมาหลายครั้ง ตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ สเปน อิตาลี บราซิล เวเนซุเอลา ฯลฯ จนทำให้รัฐบาลประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ดีกังวลว่า "ประเทศตนเองจะได้รับผลกระทบไปด้วย" ทำให้องค์กรระหว่างประเทศต้องหาแนวทางร่วมกันเพื่อ "อุ้ม" ธนาคารขนาดใหญ่ที่เกิดปัญหาทางการเงิน เป็นการตอกย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของธนาคารในระบบเศรษฐกิจโลกที่ต้องเป็น "ธนาคารเพื่อความยั่งยืน" เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์เหล่านี้

เรื่องสำคัญที่สุดต่อความยั่งยืนของธนาคารที่ไม่อาจเลี่ยงได้ คือ ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ เพราะธนาคารเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ความสนใจของผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนสมัยนี้เริ่มเรียกร้องให้ธนาคารใส่ใจและเปิดเผยผลการดำเนินงานด้าน ESG (Environmental, Socialand Governance) เพื่อสะท้อนระดับของความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งผู้ลงทุนและสังคมมักมีข้อสงสัยและตั้งคำถามถึงจริยธรรม อีกทั้งถามหาความน่าเชื่อถือในวิธีทำธุรกิจของธนาคาร


ความเสี่ยงในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกประเด็นที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเชื่อมโยงไปถึงการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ เช่น

· ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

· ความเสี่ยงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เชื่อมโยงกับจำนวนความต้องการใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค

· ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงต่อผลผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรและประมง

· ความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงาน หรือ ประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักในการกระบวนการผลิต

· ความเสี่ยงจากตัวธนาคารเองโดยตรงในการให้คำแนะนำทางการเงินและการลงทุนแก่ลูกค้าที่อาจไปส่งเสริม หรือ เพิ่มประเด็นลบให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม


ส่วนเหตุผลอื่น อาทิ Liability Claims จากการที่ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารถูกฟ้องร้อง หรือ มีภาระทางกฎหมายอันเนื่องจากปล่อยมลพิษและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและประชาชน ซึ่งภาระดังกล่าวถูกโยงใยมายังธนาคารให้ต้องรับผิดไปด้วย ในฐานะผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ได้กลั่นกรองว่าลูกค้าได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้ ทั้งองค์การสหประชาติและนานาชาติที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน SDGs ยอมรับว่า ปัจจัยความสำเร็จของ SDGs ต้องอาศัยเงินลงทุน ซึ่งธนาคารเป็นหนึ่งในแหล่งเงินลงทุนทางอ้อมที่สำคัญที่เกื้อหนุนให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวผ่านการสินเชื่อให้แก่โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ธนาคารสามารถสร้างและส่งต่อความยั่งยืนไปสู่ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร?

ปัจจุบันข้อมูลและตัวอย่างของธุรกิจที่ดำเนินงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Corporate) มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างธุรกิจที่ "ไม่ยั่งยืน" กับ ธุรกิจที่ "ยั่งยืน" เราจึงพบว่า ทั่วโลกเริ่มมีธนาคารที่มุ่งดำเนินงานโดยใช้การเงินสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารบางแห่งนำหลัก "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ไปกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผน กลยุทธ์ บางแห่งประกาศตัวเป็น "ธนาคารสีเขียว" ด้วยการปล่อยกู้ให้เฉพาะธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่มุ่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารบางแห่งไปไกลกว่านั้น ด้วยการผนึกหลักความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรมองค์กร" สะท้อนผ่านการทำงานของบุคลากรทุกระดับในทุกหน่วยงาน

ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ธนาคารเพื่อความยั่งยืนนั้นจะไม่สนับสนุนการเงินให้กับกิจการที่ไม่ยั่งยืน แต่จะสนับสนุนกิจการที่ยั่งยืนเท่านั้น เช่น ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อความยั่งยืนบางแห่งยังสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมหลากหลายรูปแบบ เช่น การบรรเทาปัญหาความยากจน การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือผู้พิการ เป็นต้น


ตัวอย่างธนาคารเพื่อความยั่งยืนในต่างประเทศ เช่น

· ธนาคารทรีโอดอส (ฮอลแลนด์) ที่ประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะให้สินเชื่อและลงทุนในองค์กรที่ทำประโยชน์ต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น โดยธนาคารมีเครือข่ายขนาดใหญ่ของกลุ่มผู้ออมเงินและผู้ลงทุนที่มีเป้าประสงค์เดียวกันในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นผ่านผู้ประกอบการและธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน

· ธนาคารนิวรีซอร์ส (สหรัฐอเมริกา) ที่แสดงตัวชัดเจนว่า ตนเองเป็นธนาคารแบบ Triple-Bottom-Line (Profit-People-Planet) ที่มุ่งให้บริการแก่ธุรกิจและองค์กรไม่แสดงหากำไรที่มุ่งสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่โลก โดยมีปรัชญาที่จะใช้กลไกการเงินเป็นตัวแทน (Agent) เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ได้แก่

· ธนาคารบราก (BRAC – บังกลาเทศ)
· แวนซิตี้ (แคนาดา)
· ธนาคารคัลจูรา (นอร์เวย์)
· บังโคโซล (บราซิล)
· แซคแบงก์ (มองโกเลีย)
· แบงก์เมคู (ออสเตรเลีย)


ส่วนธนาคารทั่วไปที่ไม่ได้ยึดมั่นในนโยบายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบสุดโต่ง ดังตัวอย่างของกลุ่มธนาคารข้างต้น ต่างเริ่มมีความเข้าใจและเห็นชอบกับแนวคิด Sustainable Banking เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการริเริ่มขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น "ธนาคารเพื่อความยั่งยืน" สามารถดำเนินการตามขั้นตอน ได้ดัง
นี้

1.กำหนดเป้าหมายด้าน ESG ที่สำคัญขององค์กร ธนาคารควรมองการดำเนินงานด้าน ESG ของตนเองว่า มีความโดดเด่นในด้านใด รวมถึงการดำเนินงานนั้นกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นใดบ้าง เพื่อจะได้เห็นประเด็นด้าน ESG ที่สำคัญ และนำไปกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจไปพร้อมกัน

2.ระบุสถานะและประเด็นสำคัญที่ต้องจัดการ เมื่อได้เป้าหมายด้าน ESG ที่ผ่านการคัดกรองและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและผู้นำองค์กรแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การค้นหาตัวเองว่า ปัจจุบันองค์กรอยู่ในสถานการณ์ใด ประเด็น ESG ด้านใดที่ทำอยู่ และมีความคืบหน้าอย่างไร รวมถึงประเด็นสำคัญประเด็นใดที่ยังไม่ได้ทำ ที่ต้องจัดการเพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมายที่ต้องการเหล่านั้น

3.ระบุความเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อความสำเร็จของเป้าหมาย ESG ที่เราตั้งไว้ควบคู่กับการระบุระดับความเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้ (Risk Appetite) และกำหนดวิธีการตอบสนอง หรือ จัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น (Responding to ESG Risks) อย่างรอบด้าน

4.กำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร เมื่อดำเนินการใน 3 ข้อข้างต้นแล้ว ให้ประมวลผลและกำหนดเป็น "นโยบาย หรือ กรอบการดำเนินงานระยะยาว ระยะกลาง และระยะสั้น" พร้อมกับจัดทำ "กลยุทธ์" การทำงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย ESG ที่ต้องการอย่างครอบคลุมความเสี่ยงที่กำหนดไว้ข้างต้น

5.นำกลยุทธ์ ESG ไปปฏิบัติให้เกิดผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยการนำแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจไปดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ โดยทบทวนให้มั่นใจว่า โครงสร้างการทำงานที่มีอยู่ กระบวนการติดตามผลลัพธ์ และงบประมาณที่มี สามารถเอื้อต่อการ Implement เป้าหมายด้าน ESG อย่างที่ต้องการหรือไม่

การขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืนของธนาคารตามขั้นตอนข้างต้น อาจเริ่มต้นจากภายในองค์กรก่อน จนหล่อหลอมกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร แล้วจึงขยายสู่ภายนอก ดังตัวอย่างเช่น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยการไม่ทำธุรกรรมกับผู้ที่ทุจริตหรือคอร์รัปชัน การดูแลและพัฒนาศักยภาพของ พนักงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และขยายไปยังลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง เช่น การให้สินเชื่อที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้และการบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การคัดกรองคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมบริการทางการเงินแก่ธุรกิจที่มี บรรษัทภิบาลที่ดี เป็นต้น


ทำแล้วธนาคาร ผู้มีส่วนได้เสีย และส่วนรวมได้อะไร?

การเป็น "ธนาคารเพื่อความยั่งยืน" ได้ให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจส่วนรวมและธนาคารเองในระยะยาว ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

· ลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ เช่น การปล่อยสินเชื่อแก่โครงการที่อาจถูกระงับ เนื่องจากส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

· เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น การปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานสะอาด และกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินซึ่งยังไม่มีคู่แข่งมากนัก

· ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ (ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อและการเงินอย่างรับผิดชอบแก่อุตสาหกรรมต่างๆ) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยิ่งให้แก่คนไทยในระยะยาว

· สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน ประชาชน

· ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ (ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อและการเงินอย่างรับผิดชอบแก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยิ่งให้แก่คนไทยในระยะยาว

สำหรับธนาคารที่สนใจเรื่อง Sustainable Banking สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ENVIRONMENTAL, SOCIAL AND GOVERNANCE INTEGRATION FOR BANKS : A GUIDE TO STARTING IMPLEMENTATION จัดทำโดย WWF, 2014


บทความโดย : ณัฐศิริ บุญชวน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว