ทางออกนอกตำรา : ดอกเบี้ยมาประชาชอกชํ้า ปีหน้าขาขึ้น! ไม่ตั้งรับเจอดี

17 พ.ย. 2561 | 13:19 น.
ดอกเบี้ย-2 14066 ในสายตาชาวบ้านทั่วไป มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 4 ต่อ 3 ที่เห็นชอบให้ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” หรือดอกเบี้ยอาร์/พี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติจะปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ไว้ที่ 1.5% อาจไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นตกใจ

เพราะแบงก์ชาติใช้นโยบายดอกเบี้ยตํ่าเช่นนี้มานานจนชิน ประชุมลงมติกันแบบนี้มาแล้ว 28 ครั้ง ก็ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ปากท้องชาวบ้านสักนิดเดียว ยังจ่ายดอกเบี้ยแพงเหมือนเดิม

แต่สำหรับตลาดเงิน ตลาดทุน สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจลีสซิ่ง ซึ่งเป็น “ผู้หากินและเล่นกับเงิน” รวมตลอดไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กยันรายใหญ่ที่ “ต้องการเงิน” ต้องหูผึ่ง ตาไว และต้องไหวตัวให้ทัน ไม่เช่นนั้น ท่านอาจตกขบวนและมีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่ทันรู้ตัว

ส่วนชาวบ้านร้านค้าทั่วไปนั้น ผมขอบอกว่า “ภัยในเรื่องต้นทุนทางวงการเงิน” กำลังเดินย่องแบบเงียบกริบมาเคาะประตูบ้านของทุกท่านในเร็ววันนี้แน่นอน...ทำไมเป็นเช่นนั้น!!!
Bank-interest-PPP นับตั้งแต่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งรับไม้ต่อมาจาก “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” ปฏิรูปกระบวนการทำงานของแบงก์ชาติครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ด้วยการสร้าง “คณะกรรมการ” ขึ้นมากำกับดูแลงานอย่างเป็นอิสระของแบงก์ชาติ 2 ชุด ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่จนลงเป็นหนี้กันทั้งประเทศ

ชุดแรก เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน รู้จักกันในนาม “กนง.” มีกรรมการ 7-9 คน ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินประเทศ โดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา

หลักใหญ่ในการทำงาน คือ เปลี่ยนวิธีการบริหารของธนาคารกลางจากเดิมที่ใช้ “ปริมาณเงิน” Monetary Targeting มากำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน เม็ดเงินจากภาคต่างประเทศ และดุลการชำระเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมีระดับราคาที่เหมาะสม มาเป็น “ตัวเลขเงินเฟ้อ” Flexible Inflation Targeting เป็นเป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจ

ภาษาชาวบ้าน กนง. ใช้อัตราดอกเบี้ย มาดูแลเรื่องเงินเฟ้อ ค่าเงิน อันเป็นต้นทุนราคาสินค้าที่บุกไปถึงปากท้องของชาวบ้าน

ชุดที่ 2 เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน รู้จักกันในนาม “กนส.” มีกรรมการรวม 11 คน ผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นประธาน รับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพมั่นคง ฉีดเงินหรือดูดซับเงินลงไปในระบบ กำกับ สั่งการกันที่นี่

แบงก์ชาติใช้คณะกรรมการ 2 ชุดนี้ ขับดอกเบี้ยออกมาเคลื่อนเศรษฐกิจและใช้สถาบันการเงินปล่อยกู้เงินออกไปให้กับประชาชนคนไทยมาร่วม 18 ปีแล้ว

[caption id="attachment_348592" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ปัจจุบันกรรมการ กนง.7 คน ประกอบด้วย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นประธาน เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน เป็นรองประธาน ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ สายบริหาร เป็นกรรมการที่เป็นฝ่ายบริหารของแบงก์ชาติ ที่เหลือเป็นนักเศรษฐกิจจากองค์กรภายนอก 4 คน ประกอบด้วย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี สุภัค ศิวะรักษ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยและธนาคารซีไอเอ็มบี-ไทย และ สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

ในฐานะที่คลุกคลีกับข่าวทางเศรษฐกิจมา ผมขอบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่ “กนง.เสียงแตก 4 ต่อ 3 เสียง” ในการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้น ที่แตกต่างกันมากมายและสูสีกันขนาดนี้

ผมทำนายโดยไม่อ้อมค้อม และไม่ต้องให้ ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขานุการ กนง.ออกมาชี้แจงว่า กนง. ที่สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี เพื่อสกัดการเก็งกำไรและจะได้รับมือกับการขึ้นของดอกเบี้ยโลกได้ทันท่วงที คือ ฝ่ายบริหารของแบงก์ชาติ 3 คน ส่วน 4 คน ที่ลงมติให้ตรึงไว้ก่อนคือ กรรมการที่มาจากคนนอก ถ้าจะผิดฝาผิดตัวไปก็ไม่เกิน 2 คนนี้ คือ “พ.” กับ “ส.”


A woman shows U.S. dollar bills at her home in Buenos Aires, Argentina August 28, 2018. REUTERS/Marcos Brindicci

ที่ผ่านมาเพียงแค่คณะกรรมการมีเสียงแตกแค่ 2 เสียง ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารพาณิชย์ก็อื้ออึง “ขาดทุน-ทำกำไร” กันสนั่นเป็นพันล้านเป็นหมื่นล้านแล้ว เพราะนี่คือสัญญาณว่า นโยบายเศรษฐกิจของไทยกำลังเข้าสู่โหมดของการปรับเปลี่ยนแล้ว

วันที่ 19 กันยายน 2561 กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดย 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ปรากฏว่า ค่าเงินบาทแกว่งขึ้นลง 0.20-0.30 บาท นักค้าเงินซื้อขายกันมือระวิง ไตรมาส 3/2561 ปริมาณซื้อขายเงินตราต่างประเทศทะลุ 2.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มาถึงรอบวันที่ 14 พฤศจิกายน กรรมการ กนง. 4 คน ลงมติให้คงดอกเบี้ยอาร์/พีไว้ในอัตราเดิม ขณะที่กรรมการอีก 3 คน สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดพฤติกรรมแสวงหาผลกำไร เก็งกำไร และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินให้ตอบรับกับดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต

สัญญาณมาชัดเจนครับว่า เวลาดอกเบี้ยอาร์/พีที่ตํ่า 1.50% ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิงในการคิดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จากประชาชนทั่วไป6.25-7.5% ยกเว้นบรรดาเศรษฐีระดับ“มิลเลนเนียล” ที่ได้ดอกเบี้ย 4-5% จะหมดเวลาแล้ว

เมื่อดอกเบี้ยอาร์/พีขยับขึ้นไปไม่ต้องมากแค่ 0.50-1.0% รับประกันซ่อมฟรีว่า การที่ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย ประชาชนทั่วไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 9-10% มีให้เห็นภายใน 1-2 ปีแน่นอน และผู้ที่จะพุงกางก่อนใครคือธนาคารพาณิชย์ ที่ปีนี้แม้จะมีต้นทุนพุ่งรายได้ลดจากดิจิตอลแค่ 9 เดือนทำกำไรไป 1.62 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว

ทำไมนะหรือ เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุก 0.25% จะช่วยส่งผลต่อกำไรธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 1% นี่คือสูตรการเงินที่แท้จริง ซึ่งแบงก์ชาติรู้ดีกว่าชาวบ้าน

แต่ผมประเมินว่าแบงก์ชาติ และ กนง.จะไม่ลงมติขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เด็ดขาด เนื่องจากเป็นท้ายปีที่จะไปสกัดกำลังซื้อและส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาลที่กำลังนำไปสู่โหมดการเลือกตั้ง
compound_interest
ผมเชื่อว่า ถ้าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าจะลากไปก็คงเป็นช่วงวันที่ 20 มีนาคม 2562 ไม่ก็เป็นวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เพราะขึ้นดอกเบี้ยไปเท่าใด ฝ่ายการเมืองก็ปลอดภัยจากการด่าทอของประชาชนที่โดนดอกเบี้ยมากัดกินเงินรายได้

เชื่อผมเต๊อะปี้น้อง.... แม้ Code of Conduct หรือข้อพึงปฏิบัติของ กนง.จะกำหนดไว้ตัวโตว่า กรรมการพึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระในการออกความคิดเห็นและตัดสินใจ โดยถือประโยชน์โดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ และพึงวางตัวเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อสาธารณชนว่ามีความเป็นอิสระจากการเมือง แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า แรงส่ง และการแทรกแซงด้วยวาจา “Verbal Intervention” ทางการเมืองนั้น สำคัญต่อการชี้นำทางนโยบายอย่างมาก

ปีนี้ไม่มีทางขึ้น แต่ปีหน้าขยับแน่ สำนักวิจัย ธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย2 ราย คือซีไอเอ็มบี-ไทย กับ ธนาคารกสิกรไทย เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ไป โดยคาดว่าจะปรับขึ้นครั้งแรกเดือนมีนาคม 2562 และทั้งปี 2562 จะขยับไป 0.50%

แต่ปีนี้อัตราเงินเฟ้อที่ยังตํ่าทำให้แรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยไม่มาก แถมเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ความจำเป็นที่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2561 จะยิ่งลดน้อยลง

แต่คนที่จะกู้เงินยาว หรือผู้ที่จะล็อกต้นทุนทางการเงินด้วยการออกหุ้นกู้ ตราสารหนี้ทางอื่น ต้องลงมือทำกันช้าไม่ได้แล้วครับ...เพราะดอกเบี้ยมันไม่เคยเหี่ยวเฉาสักที บานเบ่งชั่วนาตาปีดอกบานทวียืนอยู่ที่ธนาคาร...รู้มั้ยดอกอะไรบานไม่รู้โรย...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3419 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย.2561
595959859