‘ประกันชีวิต’ฝ่ามรสุม ไทยสมุทรชี้ปี62 ปัจจัยรุมเร้า

19 พ.ย. 2561 | 13:00 น.
 

หลายๆ บริษัทประเมินแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2562 ว่า เป็นปีที่ท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจและการเติบโต ทั้งในแง่กฎกติการะเบียบปฏิบัติจากผู้คุมกฎที่เข้ามาควบคุมมากขึ้น การมุ่งสู่โลกดิจิตอลและการแข่งขันที่รุนแรง โดยจะเห็นว่าสัดส่วนเบี้ยประกันในไทยกว่า 85% มาจากประกันชีวิต ที่เหลือ 15% มาจากประกันวินาศภัย และทุกบริษัทหันมารุกประกันสุขภาพกันหมด แม้มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน ทำให้การแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

นางนุสรา(อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบยั่งยืน 2 ประการคือ ความยั่งยืนทางการเงิน โดยมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี บริหารบริษัทให้มีรายได้และกำไร ลูกค้าได้ประโยชน์และบริษัทมีผลตอบแทน และความยั่งยืนด้านคำมั่นสัญญา โดยการเติบโตอย่างระมัดระวังเพื่อส่งประโยชน์ให้กับผู้เอาประกัน ดูแลพนักงาน ผู้บริหาร และสังคม ภายใต้ยุคที่แข่งขันสูง การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านดิจิตอลและหลักกติกาสากลที่เข้ามาบังคับใช้ เช่น หลักเกณฑ์รายงานทางการเงิน IFRS9 และ IFRS17

นุสรา

ส่วนทิศทางธุรกิจประกันชีวิตปี 2562 นั้นน่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 4-6% จากปัจจุบันเติบโตราว 4.68% โดยความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตที่จะทำให้เติบโตน้อยหรือช้าลง มี 2-3 ประเด็น คือ อัตราตารางมรณะที่มีการปรับ ซึ่งเป็นแรงกดดันต่ออัตราค่าคอมมิสชัน การกำกับดูแลให้การบริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทำให้กระบวนการขายมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น และเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงส่งผลให้ยอดขายเติบโตน้อยลงด้วย

บริษัทจึงตั้งเป้าเติบโตของธุรกิจปี 2562 ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยตั้งเป้าเติบโตทั้งในแง่ยอดเบี้ยรับใหม่และเบี้ยรับรวมเบื้องต้น 10% ซึ่งหลักๆ ยังคงเน้นการเติบโตของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) เพราะจะเห็นว่าเบี้ยที่มาจากโปรดักต์ยูนิตลิงก์เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะลูกค้าต้องการผลตอบแทนที่มากกว่าประกันทั่วไปเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดคนเมือง (Urban Move) ภายใต้ประกัน “คุ้มทวี” ซึ่งจะขับเคลื่อนต่อเนื่องในปีหน้า โดยพยายามให้เป็นดิจิตอล 100% แม้ว่าปัจจุบันยังทำไม่ได้ก็ตาม เนื่องจากลูกค้าต้องการซื้อประกันที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมถึงขยายสินค้าอื่นๆ เพื่อรองรับกลุ่มคนเมืองมากขึ้น และทำ Platform Digital โดยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รองรับการแข่งขันในยุคดิจิตอล ซึ่งเร็วๆ นี้จะเปิดตัว “OCEAN CLUB Application” เต็มรูปแบบและขยายพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น

[caption id="attachment_348592" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

อย่างไรก็ตาม แม้ดิจิตอลจะมาแรงและแข่งขันสูง ซึ่งในอนาคตบริษัทจะเดินไปสู่ Digital Fully แต่เชื่อว่า ลูกค้าบางคนยังต้องการพบคนหรือใช้กระดาษอยู่ ดังนั้นบริษัทจะปรับเปลี่ยนและปรับปรุงสาขาและพนักงานให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะไม่ลดสาขา จากปัจจุบันที่มี 171 สาขาทั่วประเทศ แต่ได้เสริมการฝึกอบรมพนักงานเรื่องการขายมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำต่อไป

“เราเน้นการเติบโตแบบยั่งยืนใน 4 ปีที่ผ่านมา แม้จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดบ้าง แต่การเดินแบบยั่งยืนสามารถเดินได้นาน แม้เราจะไม่ใช่บริษัทที่เติบโตมากที่สุด แต่เราก็ไม่หยุดพัฒนา ไม่ทำตัวเหมือนนํ้าเต็มแก้ว เราจะหาสิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับปรุง โดยเอาลูกค้ามาอยู่ในใจ ภายใต้ Big Challenge ที่จะต้องเจอ โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์กำกับที่จะเข้ามา และภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง”

อย่างไรก็ตามช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายที่เหลือจะ เห็นตลาดยังคงแข่งขันกันสูงเพราะเป็นฤดูกาลที่มีการซื้อขายประกันสูงสุด บริษัทไม่ได้คาดหวังเติบโตมากนัก แต่มั่นใจว่า ภาพรวมจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 13%
หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3419 วันที่ 18-21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62