ฝ่าอาถรรพ์ สนช. ไฟเขียว! "กฎหมายภาษีที่ดินใหม่"

16 พ.ย. 2561 | 10:38 น.
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 169 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เมื่อเที่ยงวันศุกร์ที่ 16 พ.ย. 2561 ต่อเนื่องจากวันก่อนหน้าที่พิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยเห็นชอบตามร่างของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ได้ปรับแก้จากที่ ครม. เสนอหลายมาตรา และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ใช้เวลาพิจารณาเกือบ 20 เดือน ตั้งแต่ 31 มี.ค. 2560 ท่ามกลางกระแสว่าจะไม่ทัน สนช.ชุดนี้

org_9606075282

สาระสำคัญยังคงประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษี 4 ประเภท แต่ลดอัตราการเสียภาษีลง โดยกำหนดเพดานการจัดเก็บสำหรับ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 0.15% (เดิม 0.2%) 2.ที่พักอาศัย ไม่เกิน 0.3% (เดิม 0.5%) 3.ที่ดินทำประโยชน์อื่น (พาณิชย์-อุตสาหกรรม) ไม่เกิน 1.2% (เดิม 2.0%) และ 4.ที่รกร้างไม่ทำประโยชน์ ไม่เกิน 1.2% (เดิม 2%) พ้น 3 ปี ยังไม่ทำประโยชน์ ปรับเพิ่มอัตราอีก 0.3% ทุก 3 ปี แต่รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 3% (เดิมไม่เกิน 5%) หรือ ปรับลดเพดานอัตราลงเฉลี่ย 40% ลดหย่อนภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรและที่พักอาศัย โดยกำหนดให้กรณีที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา กรณีบ้านหลังแรก ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับส่วนของทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของเฉพาะที่ดินได้รับยกเว้น 10 ล้านบาท

รวมทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังจัดทำบทเฉพาะกาล ระบุ 2 ปีแรกในช่วงเปลี่ยนผ่าน กำหนดอัตราการจัดเก็บทั้ง 4 ประเภท โดยที่ดินเพื่อการเกษตรของบุคคลธรรมดา ส่วนเกินจาก 50 ล้านบาท เสียภาษีอัตรา 1 ล้านบาทต่อภาษี 100 บาท และเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได โดยยกเว้นภาษี 3 ปีแรก ส่วนที่นิติบุคคลเริ่มเก็บทันที ส่วนที่เพื่อการพักอาศัย ส่วนเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท ส่วนบ้านหลังที่สอง เสียตั้งแต่บาทแรกในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรม จัดเก็บในอัตราเริ่มที่ 1 ล้านบาทต่อ 3,000 บาท และปรับเพิ่มอัตราเป็นขั้นบันไดตามมูลค่า สูงสุดอัตราไม่เกิน 0.7% ส่วนกิจการโรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟ สถานศึกษา เอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า เก็บในอัตราตั้งแต่ 0.3% ของราคาประเมิน และทุก 3 ปี ต้องเสียเพิ่ม 0.2-0.3% จนถึงสูงสุดไม่เกิน 3% จากร่างเดิมสูงสุดไม่เกิน 5% เป็นต้น หลังพ้นระยะ 2 ปี ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บในพื้นที่ของตนเองได้ต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบบทเฉพาะกาลยังระบุให้ใน 3 ปีแรก ถ้ามีภาระภาษีตามกฎหมายใหม่สูงกว่าภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เดิม ให้ปีที่ 1 ชำระภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิม บวกกับ 25% ของภาระภาษีที่เหลือ ปีที่ 2 ปรับเพิ่มส่วนของภาระภาษีที่เหลือเป็น 50% และเพิ่มเป็น 75% ในปีที่ 3

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวขอบคุณ สนช. ที่ผ่านความเห็นชอบ และย้ำว่ากฎหมายภาษีที่ดินใหม่จะสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจประเทศ และโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินจะสอดคล้องกับสากล อุดช่องโหว่ของภาษีเดิม เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ท้องถิ่นมีรายได้ไปพัฒนาพื้นที่ และสร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การปรับลดเพดานอัตราการจัดเก็บและกำหนดข้อยกเว้นหลายกรณีข้างต้นนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ทำให้ฐานภาษีหดหายไปจำนวนมาก อาจทำให้การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลง หรือน้อยกว่าเป้าหมาย ทำให้ อปท. อ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานในพื้นที่ของตนเองได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาเพื่อเสนอทบทวนอีกครั้ง ทั้งในเรื่องอัตราการจัดเก็บ ข้อยกเว้น รวมทั้งราคาประเมินให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับภาวะตลาด

อ่านประกอบ : อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทต่าง ๆ ตามบทเฉพาะกาล ม.90 ใน 2 อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน (ที่ดิน+สิ่งปลูกสร้าง) ดังนี้

1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อเกษตรกรรม

- มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท คิดอัตรา 0.01 % (ล้านละ100 บาท)
- มูลค่าเกิน 75 ล้าน ไม่เกิน 100 ล้านบาท คิดอัตรา 0.03%
- มูลค่าเกิน 100 ล้าน ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดอัตรา 0.05%
- มูลค่าเกิน 500 ล้าน ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท คิดอัตรา 0.07%
- มูลค่าเกิน 1,000 ล้านขึ้นไป คิดอัตรา 0.1%

2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่พักของบุคคลธรรมดาที่มีชื่อในทะเบียนบบ้าน (บ้านหลังหลัก)

- มูลค่าไม่เกิน 25 ล้าน คิดอัตรา 0.03%
- มูลค่าเกิน 25 ล้าน ไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตรา 0.05%
- มูลค่าเกิน 50 ล้านขึ้นไป คิดอัตรา 0.1%

3.บ้านที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของพักอาศัยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน (บ้านหลังหลัก)

- มูลค่าไม่เกิน 40 ล้านบาท คิดอัตรา 0.02%
- มูลค่าเกิน 40 ล้าน แต่ไม่เกิน 60 ล้าน คิดอัตรา 0.03%
- มูลค่าเกิน 60 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 90 ล้าน คิดอัตรา 0.05%
- มูลค่าเกิน 90 ล้านขึ้นไป คิดอัตรา 0.01%

4.ที่ดินหรือบ้านพักกรณีอื่น

- มูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน คิดอัตรา 0.02%
- มูลค่าเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 75 ล้าน คิดอัตรา 0.03%
- มูลค่าเกิน 75 ล้าน แต่ไม่เกิน 100 ล้าน คิดอัตรา 0.05%
- มูลค่าเกิน 100 ล้านขึ้นไป คิดอัตรา 0.1%

5.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทำประโยชน์อื่นนอกเหนือที่พัก-การเกษตร

- มูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน คิดอัตรา 0.3%
- มูลค่าเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 200 ล้าน คิดอัตรา 0.4%
- มูลค่าเกิน 200 ล้าน แต่ไม่เกิน 1,000 ล้าน คิดอัตรา 0.5%
- มูลค่าเกิน 1,000 ล้าน แต่ไม่เกิน 5,000 ล้าน คิดอัตรา 0.6%
- มูลค่าเกิน 5,000 ล้านขึ้นไป คิดอัตรา 0.7%

6.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทิ้งร้าง

- มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตรา 0.3%
- มูลค่าเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 200 ล้าน คิดอัตรา 0.4%
- มูลค่าเกิน 200 ล้าน แต่ไม่เกิน 1,000 ล้าน คิดอัตรา 0.5%
- มูลค่าเกิน1,000 ล้าน แต่ไม่เกิน 5,000 ล้าน คิดอัตรา 0.6%
- มูลค่าเกิน 5,000 ล้านขึ้นไป คิดอัตรา 0.7%

e-book-1-503x62