อินไซด์สนามข่าว : สมรภูมิหาเสียงผ่านโซเชียล จะโกยแต้มวัยรุ่นต้องมี "กึ๋น" กันหน่อย!

16 พ.ย. 2561 | 10:24 น.
 

สมรภูมิ-1 เหมือนจะได้ผลกับกลยุทธ์ตุนคะแนนเสียง สไตล์นักการเมืองรุ่นเก๋า “เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ทุ่มทุนสร้างงัดไม้เด็ดควงคนในครอบครัวลงพื้นที่ เรียกเสียงฮือฮามากโดยเฉพาะจากโลกโซเชียลมีเดีย ที่กระหนํ่าแชร์และแสดงความเห็นกับภาพของ “น้องจินนี่-ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ” ลูกสาวคนเล็กที่เดินเคียงคู่คุณแม่หน่อยทักทายผู้คนย่านประตูนํ้า

จนปรากฏภาพข่าวในหลายสื่อ แทบจะไม่มีภาพกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทยอยู่ในเฟรมร่วมคณะไปด้วย

เรียกว่าเจ๊หน่อยจัดเต็มโชว์ความเก๋าและส่งสัญญาณไม่ยอมตกขบวน “กระแสคนรุ่นใหม่” เช่นเดียวกับแทบจะทุกพรรคการเมือง เพราะหันไปดูอย่าง พรรคพลังประชารัฐ น้องใหม่ในสนามการเมือง ก็เลือกที่จะดึงคนรุ่นใหม่มาระดมสมองช่วยคิดออกแบบนโยบายพรรค เพื่อหวังจะให้เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่
111 พรรคเก่าแก่อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ นอกจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มี FC ในโลกออนไลน์มากมาย ยังไม่วายดึง "ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ" หลานชายสุดที่รัก เข้ามาเป็นแกนนำรุ่นใหม่ ผนึกกำลังกับ “ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย” Youtubper ชื่อดัง เข้ามาดึงเสียงคนรุ่นใหม่อีกทาง

จากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่โหนกระแสคนรุ่นใหม่ ทำให้ผมไปเจอข้อมูลผลสำรวจในโครงการ “1 Like 1 Vote” หรือรายงานผลสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 ของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจดิจิตอลและธุรกิจเอสเอ็มอีอย่าง ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ ที่ซุ่มร่วมทำแบบเงียบๆกับหลายแฟนเพจ ทั้งเพจชวนหาเรื่อง, Beevoice, JobBKK, Admission Premium และ Eduzones โดยไม่มีหน่วยงานใดมายุ่มย่ามกระบวนการทำโพลล์

สิ่งที่ผมอ่านเจอแล้วสนใจคือ โพลล์เขาแบ่งวัยรุ่นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอายุ 18-24 ปี ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีประมาณ 4.5 ล้านคน และกลุ่มที่ 2 อายุ 24 ปีขึ้นไป หมายถึงคนที่อาจจะเคยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง
2656+ คำถามในโพลล์ถามว่า หากมีการเลือกตั้งขณะนี้ มีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ที่อยู่ในใจหรือยัง? วัยรุ่นทั้ง 2 กลุ่มตอบตรงกันว่า “ยังไม่มี เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะตัดสินใจ” ส่วนที่ไม่ตรงกันคือ บางกลุ่มบอกว่า “มีแล้ว แต่อาจจะเปลี่ยนได้หากมีพรรคหรือผู้สมัครอื่นที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า” และบางกลุ่มบอกว่า “ยังไม่มี เพราะไม่ได้ติดตามข้อมูลการเลือกตั้ง”


เมื่อโพลล์ถามถึง ปัจจัยอะไรที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร? วัยรุ่น 2 กลุ่มตอบตรงกันว่า “ดูที่นโยบายของพรรค” แต่ปัจจัยที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น 3 อันดับแรกคือ คำแนะนำจากสื่อ คำแนะนำของผู้ที่ตนเองชื่นชอบผ่านทาง Social Media และคำแนะนำของครอบครัว

ส่วนช่องทางที่วัยรุ่นทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตรงกันทุกข้อ อันดับ 1 Facebook ของสื่อสิ่งพิมพ์/วิทยุ/โทรทัศน์ รองลงมาคือ แฟนเพจ Facebook อื่นๆ สื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์ และ Youtube ของสื่อตามลำดับ

[caption id="attachment_348592" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ถ้าอิงตามโพลล์นี้ เท่ากับว่า Facebook Youtube กลายเป็นช่องทางหลักที่จะทวีความดุเดือดมากขึ้น ในการแย่งชิงคะแนนเสียงอย่างน้อย 4.5 ล้านคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่

แต่แน่นอนว่าโพลล์นี้ไม่ได้สรุปว่าพรรคการเมือง หรือนักการเมืองคนไหนเลือกใช้โซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวแล้วจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง เพราะในโพลล์เดียวกันยังมีคำถามที่ถามว่า “ปัจจัยอะไรที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร” ซึ่งคำตอบที่ได้กลับตรงกันจากวัยรุ่นทั้ง 2 กลุ่มคือ เขาตัดสินใจลงคะแนนจาก “นโยบายของพรรค” มาเป็นอันดับ 1

ฉะนั้นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ของพรรคการเมืองที่อาจจะยังย่ามใจ ยังเน้น ขายบุคลิกหน้าตาคนในพรรค ขายแบรนด์ของพรรคมากกว่านโยบายของที่หมายถึง “กึ๋น” ของพรรค อาจจะสอบตกก็เป็นได้

|คอลัมน์ : อินไซด์สนามข่าว
| โดย : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
|Twitter : @jeerapong_pra
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,418 หน้า 14 ระหว่างนที่ 15 - 17 พฤศจิกายน 2561
595959859