กกต. จ่อถกคำสั่ง คสช. เลื่อนแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 19 พ.ย. นี้

16 พ.ย. 2561 | 11:07 น.
กกต. เบรกประกาศแบ่งเขต เตรียมถกพร้อมคำสั่ง คสช. ที่ 16/2561 19 พ.ย. นี้ วงในเผยเหตุล่าช้าเจอใบสั่งแต่แก้ให้ไม่ได้ เหตุเจอ 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ห่วงคำสั่งใหม่เปิดช่อง คสช. แทรกสั่งแบ่งเขตในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย ซ้ำกลายเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนเลือกตั้ง เพราะตั้งตัวแทนพรรคการประจำจังหวัดไม่ทัน

กกตตต

วันที่ 16 พ.ย. 2561 - พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ว่า เดิมในวันนี้สำนักงานอยู่ระหว่างนำส่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวออกมา จึงได้มีการระงับการนำส่งประกาศดังกล่าวไว้ และทางสำนักงานก็จะนำร่างประกาศแบ่งเขตเดิม พร้อมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 เสนอให้ที่ประชุม กกต. พิจารณาในวันจันทร์ที่ 19 พ.ย. นี้ รวมทั้งอาจจะต้องมีการแก้ไขระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเรื่องของเงื่อนเวลาให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ขณะเดียวกันก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เลื่อนการเปิดรับสมัครผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต และ กกต.ประจำเขต ที่เดิมจะเปิดรับสมัครในวันที่ 19-23 พ.ย. ออกไปก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ที่ออกมา มีรายงานว่า การแบ่งเขตของ กกต. มีปัญหามาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องมาจากหลังวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุม กกต. นัดสุดท้าย และได้มีการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว โดย กกต. ทั้ง 5 คน ได้มีการลงนามในมติดังกล่าว และเตรียมให้ประธาน กกต. ลงนามในประกาศแบ่งเขต เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ปรากฏว่าในวันที่ 8 พ.ย. ประธาน กกต. ได้มีการเชิญประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากเห็นว่า มีการร้องเรียนการแบ่งเขตเลือกตั้งในบางจังหวัดที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันสูง จึงอยากให้มีการพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง แต่ปรากฏว่า มี กกต. สองเสียงเห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะ กกต. ได้มีมติและลงนามไปแล้ว ถ้าจะทบทวนก็ต้องใช้มติ กกต. 5 เสียง รวมทั้งระยะเวลาที่พิจารณาก็มีระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตกำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งขณะนั้นถือครบตามกรอบเวลาแล้ว หากมาแก้ไข กกต. อาจจะทำผิดกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้องปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ได้ ดังนั้นที่ประชุม กกต.จึงไม่ได้มีการพิจารณา ขณะนั้นก็มีกระแสจากภายนอกว่ามีใบสั่งมายัง กกต. ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแบ่งเขตที่มีมติไปแล้ว เพราะรูปแบบที่ กกต. เลือกนั้นไม่เอื้อประโยชน์กับพรรคการเมืองของฝ่ายรัฐบาล รวมถึงมีพรรคการเมืองมาร้องเรื่องของรูปแบบที่ 4 หรือแม้แต่ร้องให้เร่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยทางสำนักงานฯ พยายามแก้ไขปัญหาและประสานงานไปยัง คสช. ประกอบกับเป็นช่วงที่ประธาน กกต. ไปผ่าตัดตา ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เพราะการพิจารณาเรื่องสำคัญต้องมีองค์ประชุม กกต. ครบ 5 คน จนในที่สุด ช่วงเช้าสำนักงานฯ เห็นว่าไม่อาจจะยื้อเวลาได้ จึงได้มีการนำส่งร่างประกาศแบ่งเขต เพื่อไปลงในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมาเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำสั่งดังกล่าวออกมาฝ่ายปฎิบัติของ กกต. ก็ได้มีการวิเคราะห์ว่า จะทำให้ คสช. สามารถเข้ามาแทรกแซงการแบ่งเขตในจังหวัดที่เป็นเป้าหมายได้ และมีข้อดีว่า การที่ กกต. จะมีการทบทวนการแบ่งเขตและประกาศแบ่งเขตใหม่ ก็จะเป็นการอาศัยตามอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ซึ่งจะถือว่าเป็นที่สุด ไม่สามารถที่ฟ้องร้องได้ แต่ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องของการตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ที่จะต้องมาทำหน้าที่ในการให้ความเห็นการสรรหาผู้สมัครของแต่ละพรรค เพราะการจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ จะต้องตั้งจากบุคคลที่มีภูมิลำเนาที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น เมื่อยังไม่มีการประกาศแบ่งเขตก็จะยังไม่สามารถทราบได้ว่า จะเป็นสมาชิกอยู่ในเขตไหน ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองจะต้องอยู่ในเขตนั้น ๆ ที่สุดก็อาจจะทำให้ไม่สามารถตั้งตัวแทนประจำเขตได้ทัน และนำไปสู่การร้องขอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป


595959859