สถานีแม่นํ้าบูมทำเลทองริมเจ้าพระยา

21 พ.ย. 2561 | 05:45 น.
ผ่านความเห็นชอบผลการศึกษาด้านการร่วมลงทุนของคณะกรรมการบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) เห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ร.ฟ.ท. เปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุนภายในอีก 2 ปีนี้

พื้นที่สถานีแม่นํ้าร.ฟ.ท.มีแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2552 ที่เริ่มการศึกษาพัฒนาพื้นที่โดยว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นพร้อมจัดทำเอกสารสำหรับใช้ในการขออนุมัติและหาผู้ลงทุนในโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556

P12-1 P12

ทำเลทองแปลงดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา โดยช่วงที่เรียกว่า “คุ้งนํ้า” คือช่วงที่เป็นโค้งแม่นํ้าเจ้าพระยามีความยาวประมาณ 1.16 กิโลเมตร ในเขตยานนาวา ล้อมรอบด้วยถนนพระราม3 โดยมีพื้นที่ประมาณ 277.5 ไร่ เดิมใช้เป็นย่านคลังสินค้า คลังนํ้ามัน และการขนส่งสินค้าต่อเนื่องทางนํ้ากับทางรถไฟ ผ่านทางรถไฟและทางถนนสายที่เรียกว่า “ถนนเชื้อเพลิง” ผ่านถนนพระราม 4 ออกไปเชื่อมกับเส้นทางรถไฟสายตะวันออกที่มักกะสัน

พื้นที่ตรงข้ามเป็นผืนป่าอันเขียวขจีที่เรียกกันว่า “บางกระเจ้า” ในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการที่จัดให้เป็น Best Oasis of Asia โดยนิตยสารไทม์ มีขอบเขตที่ดินทิศเหนือติดกับพื้นที่ของกรมธนารักษ์ และพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทิศตะวันออกติดกับพื้นที่คลังนํ้ามันเชลล์ ส่วนทิศตะวันตกติดกับวัดช่องลม และทิศใต้ติดกับแม่นํ้าเจ้าพระยา

การเข้าถึงพื้นที่โครงการสามารถเข้าได้ด้วย 4 ทางเข้า-ออก หลักคือ 1.ทางถนนเชื้อเพลิงเลียบทางรถไฟ 2.บริเวณถนนเชื้อเพลิงเก่าจากถนนพระราม 3 (ระหว่างถนนพระราม 3 ซอย 74 และพระรามที่ 3 ซอย 72) 3.เข้าทางบริเวณวัดช่องลมริมถนนพระราม 3 และ 4.คือทางนํ้า

บาร์ไลน์ฐาน

สำหรับการศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการที่ดินทำเลทองแปลงดังกล่าวนี้มี 6 รูปแบบด้วยกัน คือ อาคารพาณิชยกรรมและค้าปลีก อาคารพักอาศัย สำนักงาน ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ และโรงแรม พร้อมกับแบ่งออกเป็น 5 โซนการพัฒนา คือ โซนที่ 1 Gateway Commercial Park 77 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะเชื่อมโยงด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โซนที่ 2 Iconic Marina พื้นที่ 44 ไร่ เหมาะสำหรับก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ โซนที่ 3 Cultural Promenade พื้นที่รวม
78 ไร่ เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชย กรรมและค้าปลีก  โซนที่ 4 Riverfront Residence พื้นที่รวม 55 ไร่ เหมาะสำหรับก่อสร้างกลุ่มคอนโดมิเนียมหรือกลุ่มอาคารที่พักอาศัย และโซนที่ 5 Affordable  Community พื้นที่รวม 22 ไร่ อยู่บริเวณริมคลองด้านทิศเหนือ เหมาะสำหรับพัฒนารองรับธุรกิจการค้าระดับชุมชน สินค้าหัตถกรรม ร้านอาหารตามแนวริมคลองขุด  รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้ง 5 โซน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (เทียบราคาประเมิน 1.2 แสนบาทต่อตารางวา)

จัดเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ที่ฝากความหวังให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีต่อจากนี้หลังจากที่บอร์ดร.ฟ.ท.ให้ปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.การร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้วเสนอสคร.เร่งผลักดันโดยเร็วต่อไปแม้จะเป็นอีกหนึ่งทำเลทองแต่หากสามารถย้ายคลังนํ้ามันเชลล์ออกไปจากพื้นที่คาดว่าจะปลดข้อกังวลของนักลงทุนได้อย่างมาก

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,419 วันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62