ปิดฉาก 9 เดือน "ธุรกิจท่องเที่ยว" !! แอร์ไลน์อ่วมพิษนํ้ามัน-ทัวร์จีนหด สวนทาง รร. กำไรพุ่ง

21 พ.ย. 2561 | 06:31 น.
9 เดือนแรก "เจ้าจำปี-นกแอร์" ขาดทุนพุ่ง AAV กำไรหดกว่า 66% เหตุนํ้ามัน-ทัวริสต์จีนหด กระทบ Q3 อ่วม "บางกอก แอร์เวย์ส" พลิกบวก จากการเติบโตของรายได้ในธุรกิจสนามบิน โรงแรมตีปีกกำไรยังพุ่ง

จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า
การดำเนินธุรกิจด้านท่องเที่ยวของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การดำเนินธุรกิจสายการบินยังมีผลประกอบการที่ชะลอตัวลงจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.ราคานํ้ามันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 40% และการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน นับจากเหตุเรือล่มเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ฉุดไตรมาส 3 ธุรกิจการบินย่ำแย่กันถ้วนหน้า

"นกแอร์" ยังไม่พ้นโคม่า เพราะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นตํ่ากว่า 50% ของทุนชำระแล้วได้ โดยงบสิ้นสุด 30 ก.ย. 2561 พบว่า บริษัทยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง 1,921 ล้านบาท ติดลบเพิ่มขึ้น 378.05% จึงยังคงติดเครื่องหมาย C ใน ตลท. อยู่ ซึ่งนกแอร์ยังคงต้องเดินแผนลดต้นทุนต่อเนื่อง พร้อมหาช่องทางในการเพิ่มรายได้ ส่วนการบริหารสภาพคล่อง หลังจากก่อนหน้านี้กู้เงินจากกลุ่มจุฬางกูรไปแล้ว 500 ล้านบาท ก็ยังมีวงเงินที่ยังจะสามารถกู้ได้อีก 500 ล้านบาท ที่ทางกลุ่มจุฬางกูรเผื่อไว้ให้ หากนกแอร์จะขอกู้เพิ่ม และยืนยันว่า การเพิ่มทุนจะเป็นทางเลือกสุดท้าย


MP22-3419-A

"การบินไทย" แม้ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ยังคงขาดทุนอยู่ราว 4 พันล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการขาดทุนในช่วงไตรมาส 3 ค่อนข้างสูงกว่าไตรมาสอื่น ๆ คือ ขาดทุนกว่า 3.7 พันล้านบาท จากผลกระทบของภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรูตบินที่การบินไทยมีส่วนแบ่งรายได้สูงกว่าตลาดอื่น ๆ และกระทบต่อมายังเส้นทางบินจีนที่หดตัว จากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน

"ไทยแอร์เอเชีย" แม้จะเป็นบวก แต่ก็กำไรลดลง 66% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำไรร่วม 1 พันล้านบาท เหลือกำไร 339 ล้านบาท

"บางกอกแอร์เวย์ส" มีผลประกอบการก้าวกระโดดขึ้นอย่างมาก พลิกจากขาดทุน กลับมาทำกำไร 663 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินปันผลรับที่ได้รับจากเงินลงทุนใน บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินที่มีการเติบโตต่อเนื่อง นี่เองจึงทำให้สายการบินได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 100% รวมถึงมองการขยายการดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีด้วย

ในส่วนของธุรกิจโรงแรม แม้ไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนใหญ่จะมีกำไรลดลงจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน แต่เมื่อรวมกับผลการดำเนินการที่เติบโตสูงมากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จึงทำให้ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โรงแรมต่าง ๆ จึงมีการเติบโตของกำไรเพิ่มขึ้นทุกแห่ง หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย "ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล" ทำกำไรสูงสุด คือ 3.94 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำไรจากธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ในต่างประเทศ นี่เองจึงทำให้ไมเนอร์เดินแผนเข้าไปถือหุ้นใน เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป จากปัจจุบันอยู่ในสัดส่วน 46% และจะเข้าถือหุ้นอีก 48% ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อให้ถือหุ้นในสัดส่วน 94% ตามมาด้วย 'เซ็นเทล' (โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา) ที่มีกำไร 1.69 พันล้านบาท หรือแม้แต่ 'ดุสิตธานี' ก็พลิกจากขาดทุน กลับมาโกยกำไรกว่า 170 ล้านบาท


หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3419 ระหว่างวันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62