Brexit รอยร้าวของแนวคิดภูมิภาคนิยม

17 พ.ย. 2561 | 04:45 น.
บทความในฉบับที่แล้วได้นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ Brexit โดยนำข้อมูลซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากคนอังกฤษโดยตรง บทความนี้จะขอกล่าวถึงผลกระทบของเหตุการณ์นี้ที่มีต่อเสถียรภาพของแนวคิดในการรวมกลุ่มแบบภูมิภาคนิยม (Regionalism) ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้กล่าวถึงผล กระทบทางเศรษฐกิจของโลกและไทยต่อไปในฉบับหน้า

ในทางประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีชนวนสงครามเกิดขึ้นจากทวีปยุโรป ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาซํ้ารอย ประเทศในยุโรปจึงรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะควบคุมการใช้ถ่านหินและเหล็กที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตอาวุธได้ ที่เรียกว่า European Coal and Steel Community ในปี ค.ศ. 1951 ต่อมาปี ค.ศ. 1957 ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ที่ประกอบไปด้วยประเทศ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ได้รวมตัวกันเพื่อขยายผลความร่วมมือโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการค้า

โดยเฉพาะการสร้าง Single market ในภูมิภาค ภายใต้กรอบแนวคิด European Economic Community (EEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการยกระดับความร่วมมือมาเป็นสหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) ในปี ค.ศ. 1993 ทำให้จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีสมาชิกถึง 28 ประเทศ

สหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งประชาคมยุโรป แต่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกหลังจากที่ความร่วมมือนี้ได้มีการก่อตั้งผ่านมาแล้วถึง 16 ปี (เข้าร่วมในปี ค.ศ. 1973) และถึงแม้จะเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว ต้องถือว่า UK เป็นประเทศที่มีสิทธิพิเศษและข้อยกเว้นมากมายในฐานะสมาชิกซึ่งแตกต่างจากประเทศสมาชิกอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่ UK เชื่อในระบบความปลอดภัยในการตรวจคนเข้าเมืองภายใต้ระบบ Schengen policy โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศสมาชิกใหม่ที่อยู่ในยุโรปตะวันออก เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศสมาชิกใน EU ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ตรวจสอบและอนุมัติให้เข้าประเทศแล้ว จะทำให้สามารถเข้าไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ด้วย

ดังนั้นการจะเดินทางเข้าอังกฤษจึงต้องทำวีซ่าแยกต่างหาก ไม่สามารถเดินทางเข้า UKได้โดยใช้ Schengen visa แม้ UK จะเป็นสมาชิกของ EU ก็ตาม นอกจากนี้เรื่องสกุลเงินของภูมิภาค ที่แม้แต่เยอรมนีที่ถือได้ว่าเคยมีค่าเงินที่มีเสถียรภาพดีที่สุดในยุโรป ก็ยังยอมที่จะเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลยูโร แต่ UK กลับไม่ยอมใช้และยังคงใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงอยู่จนถึงปัจจุบัน

TP7-3419-A

แม้ว่าการรวมกลุ่มประเทศของสหภาพยุโรปจะมีอุปสรรคเรื่อยมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่มีพัฒนาการมากที่สุดในโลกจนทำให้ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกพยายามเดินตามรอยของ EU ไม่ว่าจะเป็นทวีปแอฟริกาที่เริ่มมีการรวมกลุ่มประเทศกันครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1963 ในชื่อ The Organi sation of African Unity (OAU) และมาเปลี่ยนชื่อเป็น African Union เมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 55 ประเทศ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เริ่มมีการรวมตัวกันครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1967 ในชื่อ ASEAN ซึ่งในตอนเริ่มก่อตั้งมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคน้องใหม่อย่างในทวีปอเมริกาใต้ด้วย โดยได้มีการก่อตั้ง The Union of South American Nations ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ

จะเห็นได้ว่าในโลกยุคปัจจุบันที่มีอัตราการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น รวมถึงการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงภายในภูมิภาคที่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ การรวมกลุ่มประเทศในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มอัตราการต่อรองในการแข่งขันทางการค้าให้สูงขึ้นตามนั้น จึงเป็นแนวทางที่ภูมิภาคต่างๆ ในโลก เลือกที่จะใช้เป็นรูปแบบในการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของการรวมกลุ่มของภูมิภาคอื่นๆ นอกจากสหภาพยุโรป ยังเป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่ได้มีโครงสร้างในลักษณะที่เป็นการยิน ยอมสละอำนาจอธิปไตยบางส่วน (pooled-sovereignty) ให้กับองค์กรเหนือรัฐ (supranational institutions) จัดการกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่มีผลให้ประเทศสมาชิกต้องไปออกกฎหมาย ภายในเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายในระดับภูมิภาค หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอำนวยความยุติธรรมเหมือนอย่างที่ EU เป็นอยู่

เนื่องจากในปัจจุบันโครงสร้างของ EU มีขั้วอำนาจครบทั้ง 3 ด้าน นั่นคือมีทั้งรัฐบาล มีสภาฯที่ออกกฎหมาย รวมถึงมีศาลของยุโรปที่คอยควบคุมการตีความและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกไม่ให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่ออกโดยสภาฯของ EU ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อำนาจในการกำหนดนโยบายโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกไม่สามารถกำหนดให้แตกต่างไปจากนโยบายของ EU ได้ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ศาลฎีกาของประเทศสมาชิกไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาพิพากษาคดี เพราะหากตัดสินคดีขัดหรือแย้งกับกฎหมายของ EU ก็สามารถถูกตีกลับได้โดยศาลของ EU

เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุ ผลส่วนหนึ่งที่ประเทศสมาชิกในยุโรปเริ่มคิดว่าการเป็นสมาชิกในระดับภูมิภาคของ EU นั้น ประเทศจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน เพียงแต่ประเทศอื่นๆ ยังคงดูท่าทีอยู่และไม่มีการเคลื่อน ไหวในเรื่องนี้อย่างชัดเจน จะมีก็เพียงแต่ UK เท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่าประเทศควรเดินต่อไปในทิศทางใด และผลก็เป็นอย่างที่ทราบกันว่า 52% ของผู้ลงคะแนนในการทำประชามติเลือกที่จะโหวตให้ประเทศแยกตัวจากการเป็นสมาชิกของ EU

ถ้า Brexit มีผลสมบูรณ์ในเดือนมีนาคมปีหน้า หรืออย่างช้าที่สุดคือภายในปี ค.ศ. 2020 ในทรรศนะของผู้เขียนเองมองว่า ปรากฏการณ์นี้จะเป็นเสมือนโดมิโนตัวแรกที่ล้มลงและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ หรืออาจเปรียบเสมือนเป็นรอยร้าวที่สามารถส่งผลต่อเสถียรภาพของแนวคิดในการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคต่อไปในภายหน้า ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่จะทำให้ความร่วมมือภายใต้โครงสร้างนี้ถึงกับล่มสลายลง แต่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม EU ต้องหันกลับมาทบทวนอย่างหนักถึงบทบาทและโครงสร้างความร่วมมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่ามันมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่เพียงไร

โดยเฉพาะประเทศพี่ใหญ่อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่แน่นอนว่าต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ UK เลือกที่จะสละเรือจาก EU นอกจากนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้การรวมกลุ่มระดับภูมิภาคทั่วโลกที่ในตอนแรกพยายามเดินตามรอยเท้าของ EU ต้องหันกลับมาพิจารณาว่า การที่มีการรวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้นอย่างที่ EU เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีในการรวมตัวในระดับภูมิภาคก็เป็นได้

ดังนั้น Brexit จึงเป็นบทเรียนที่ประเทศต่างๆ ควรให้ความสนใจเพื่อที่จะได้ใช้ในการกำหนดท่าทีของประเทศในกรณีที่จะมีการพัฒนาโครงสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคที่จะมีต่อไปในอนาคต

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3419 ระหว่างวันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน 2561

e-book-1-503x62