โบรกอ่วมรายได้หด! พอร์ตใหญ่รวมหัวกดค่าคอม 9 เดือน กำไรวูบ 28%

18 พ.ย. 2561 | 01:25 น.
181161-1537

ธุรกิจโบรกเกอร์แข่งดุ แห่ลดค่าคอมส่งผลรายได้หด ไตรมาส 3 กำไรลดลง 34% งวด 9 เดือน กำไรลดลง 28% นักลงทุนรายใหญ่หัวหมอ รวบรวมสมาชิกโวลุ่ม 300-500 ล้านบาท ต่อรองค่าคอม ZMICO หนักสุด งวด 9 เดือน ขาดทุน 83 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ธุรกิจหลักทรัพย์มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มต่อเนื่องไป หลังจากมีการเปิดให้มีการต่อรองค่าคอมมิสชันอย่างเสรี ทำให้ปัจจุบัน ค่าคอมมิสชันมีอัตราที่ลดลงมาก ซึ่งบางโบรกเกอร์ไม่ได้อยากแข่งขัน แต่อยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องต่อสู้ เนื่องจากตลาดยังมีการแข่งขันด้วยการลดค่าคอมมิสชันเพื่อดึงลูกค้า โดยเสนอค่าคอมมิสชันในอัตราที่ต่ำลง ทั้งนี้ หากไม่มีเกณฑ์บังคับให้มีเพดานต่ำสุดในการลดค่าคอมมิสชัน ก็จะส่งผลให้ธุรกิจโบรกเกอร์ยังคงอยู่ในภาวะแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องต่อไป

"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโบรกมีแรงกดดันมาก หลังจากจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้นและใช้เทคนิคเข้ามาช่วย นอกจากนี้ ยังเกิดการเปิดคอร์สอบรมของโค้ชที่หลากหลายขึ้น ทำให้เกิดการพยายามหาค่าคอมมิสชันที่ถูกลง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากนักลงทุนที่มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อให้มีปริมาณซื้อขายจำนวนมาก เช่น ไม่ต่ำกว่า 300-500 ล้านบาท และนำไปต่อรองขอลดค่าคอมมิสชัน เป็นต้น อีกทั้งมีนักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) ที่วิเคราะห์หุ้นเอง ไม่ใช้บทวิเคราะห์ และเน้นค่าคอมมิสชันที่ต่ำอีกด้วย"


mp17-3419-a


ธุรกิจโบรกเกอร์ควรปรับตัวด้วยการสร้างรายได้ใหม่ ที่ไม่ได้มาจากธุรกิจเดิม แต่เป็นการพยายามสร้างจากธุรกิจอื่น เห็นได้จากบางแห่งได้เริ่มเปิดการขายตราสารอนุพันธ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามารองรับการลงทุนของลูกค้าให้หลากหลาย ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น แอพพลิเคชันที่ช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกในการส่งคำสั่งซื้อขาย โดยจะมีค่าใช้จ่ายต่ำและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังหาตัวช่วยในการลงทุนและตัดสินใจให้ลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเปรียบเทียบและช่วยสแกนหุ้นให้แก่ลูกค้าอีกช่องทาง

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคม เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 มีมติให้ยังคงอัตราค่าคอมมิสชันในอัตราแนะนำที่ประกาศใช้เมื่อปี 2555 เนื่องจากเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรม ที่อยู่ระหว่างการปรับตัวและพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีมีบทบาทกับการลงทุนมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่มีความต้องการข้อมูลลึกและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ควรหารายได้จากแหล่งอื่นมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ จำนวน 11 แห่ง ได้แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2561 และงวด 9 เดือน ปี 2561 โดยในไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 454 ล้านบาท ลดลง 235.56 ล้านบาท หรือ 34.16% ส่วนงวด 9 เดือน กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1,697.91 ล้านบาท ลดลง 652.80 ล้านบาท หรือ 27.74% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรสุทธิส่วนใหญ่ที่ลดลง เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิสชัน) ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น

บริษัทที่มีกำไรมากที่สุดในไตรมาส 3 คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KGI) กำไรสุทธิ 282 ล้านบาท, บริษัท เอเซียพลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ASP) กำไรสุทธิ 68.27 ล้านบาท และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จก. (มหาชน) (MBKET) กำไรสุทธิอยู่ที่ 54.38 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่มีผลขาดทุนมากที่สุด คือ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จก. (มหาชน) (FSS) ขาดทุนสุทธิ 33.66 ล้านบาท, บล.เออีซี จก. (มหาชน) (AEC) ขาดทุนสุทธิ 12.47 ล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,419 วันที่ 18 - 21 พ.ย. 2561 หน้า 17-18

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
WHA คาดโต 20% โบรกมองเป้า 6 บาท
โบรกแนะเก็บหุ้นดัก LTF


เพิ่มเพื่อน
595959859