สนช.ห่วงเพดานภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างเพิ่มภาระประชาชน

15 พ.ย. 2561 | 12:27 น.
สนช.เลื่อนลงมติร่างก.ม.ภาษีที่ดินฯ เป็น 16 พ.ย.นี้ "รมช.คลัง"แจงปรับระบบภาษีให้ทันสมัย ลดกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร สมาชิกห่วงเพดานภาษีเพิ่มภาระให้ประชาชน เหตุปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ในวาระ 2 และ 3 ได้ขอเลื่อนการลงมติเป็นวันที่ 16 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. หลังจากที่ประชุม สนช. วันนี้(15 พ.ย.) ได้อภิปรายจนครบ 94 มาตราแล้ว แต่เนื่องจากการลงมติในวาระ 2 เป็นรายมาตรานั้นต้องใช้เวลามาก

ทั้งนี้ สนช.ได้มีการอภิปรายลงรายมาตราทั้ง 94 มาตรา โดยประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากคือเรื่องค่าปรับในมาตรา 64 ที่กำหนดว่ากรณีที่ไม่มีการเสียภาษีในเวลาที่กำหนดจะต้องถูกปรับ 40% ของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ ส่วนผู้ที่เสียภาษีเลยกำหนดแต่เสียก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน จะต้องถูกปรับ 10% ของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ ซึ่ง สนช.ที่สงวนคำแปรญัตติเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป

สนช.2

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สนช. กล่าวว่า กรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต่างจากภาษีที่เกิดจากการทำธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องจงใจหลีกเลี่ยง แต่กรณีนี้อาจจะเป็นกรณีที่ไม่มีเงินจ่าย หากโดนปรับ 40% จะยิ่งเป็นภาระ จึงอยากให้กรรมาธิการพิจารณาลดลงเหลือ 20%

ก่อนหน้านั้น นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ชี้แจงถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เดิมนั้นมีการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งใช้มาเป็นเวลา 40 ปี และไม่มีการปรับราคากลางมาเป็นเวลานาน ซึ่งอัตราภาษีบำรุงท้องที่เป็นอัตราภาษีแบบถดถอยไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันที่ควรเก็บอัตราภาษีก้าวหน้า

ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น มีฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ รัฐบาลจึงได้ปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีให้เป็นสากลสอดคล้องกับนานาประเทศ ปรับปรุงให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งช่วยให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาพื้นที่ตนเอง

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้บัญญัติบทเฉพาะกาลมาตรา 90 ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการกำหนดให้ใน 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลของฐานภาษีตามที่มาตรา 90 บัญญัติ โดยยังคงแบ่งประเภทที่ดินเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดินเพื่อการเกษตร หากมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 1 ล้านบาท ต่อ 100 บาท ยกเว้น 3 ปีแรกไม่ต้องเสียภาษี แต่นิติบุคคลรายใหญ่ เริ่มจัดเก็บทันที และที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี

ส่วนที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 1 ล้านบาทต่อ 200 บาท โดยบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ทุก ๆ 1 ล้านบาท เสียภาษี 200 บาท ห้องเช่า/บ้านเช่า เจ้าของที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบ/ตามสัญญาที่ตกลง

ด้านที่ดินเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรม จัดเก็บอัตราขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 0.7% ของราคาประเมิน แต่โรงพยาบาล ,สนามกีฬา, สนามกอล์ฟ, สถานศึกษาเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน

และที่ดินรกร้าง ว่างเปล่า เก็บในอัตราตั้งแต่ 0.3–3% ของราคาประเมิน และทุก 3 ปี ต้องเสียเพิ่ม 0.2–0.3% ต่อเนื่องไม่เกิน 27 ปี หรือจนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

ติดตามฐาน