กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

14 พ.ย. 2561 | 11:29 น.
พลันที่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 บรรดาคนในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาตบเท้าแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมประกาศยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศฉบับนี้ที่กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

[caption id="attachment_347588" align="aligncenter" width="300"] สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์[/caption]

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้เหตุผลว่า แม้ประกาศฉบับนี้จะทำเพื่อธรรมาภิบาล แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคน ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้กรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

ดร.สุชัชวีร์ ยังให้ความเห็นว่า ประกาศฉบับนี้เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินมากเกินควร เพราะต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย ขณะเดียวกันระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศเพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วน อาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีตามกฎหมายป.ป.ช.

[caption id="attachment_347372" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

อย่างไรก็ตามมีหลายฝ่ายที่ออกมาสนับสนุนประกาศฉบับนี้ โดยเฉพาะองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่สนับสนุนรัฐบาลและป.ป.ช.กำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. พร้อมเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของกฎหมายและเจ้าของเรื่อง เดินสายไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ

ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน ตามประกาศ ป.ป.ช. ฉบับใหม่ จะส่งผลให้มีผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 3,000 คน รวมถึง องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ ที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นนักธุรกิจเอกชน พ่อค้า หรือนักวิชาการ

เราเห็นว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วย ประมาณ 500 คน เป็นคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางการศึกษา จึงควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ด้วยการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ทำมาหลายปีสูญเปล่า

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับ 3418 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 2561
595959859