พาณิชย์ตอกย้ำไม้ยืนต้นใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

14 พ.ย. 2561 | 08:27 น.
 

พาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เร่งสร้างการรับรู้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตอกยำ้ ไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ หลังกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมเปิดโครงการฝึกอบรมยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ได้ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจหลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 โดยเป้าหมายหลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คือ การชี้แจงรายละเอียดสำคัญประเด็น ไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรและประชาชนเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงินและเกษตรกร และประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน”

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรและคนในชุมชนรวมกลุ่มกันสร้างชุมชนไม้มีค่าตามแนวนโยบายประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของประเทศตั้งแต่ระดับฐานราก เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า จำนวน 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือนปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000 ล้านต้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 1 ล้านล้านบาทต่อปี

ไม้ยืนต้น

“บ้านท่าลี่ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เป็นแหล่งชุมชนที่เป็นธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย ชื่อว่า “ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่” และกำลังพัฒนาสู่การเป็นชุมชนไม้มีค่าที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ต้นไม้ และเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนอื่นๆ ที่กำลังจะพัฒนาให้เป็นชุมชนไม้มีค่าของประเทศ”

ไม้ยืนต้น2

นอกจากนี้ได้เตรียมพัฒนาพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศให้เป็นแหล่ง คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) ของโลกเพื่อการซื้อขายในอนาคตโดยคาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถตีราคาเป็นเงินและสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่า ตลาดคาร์บอน ณ ปัจจุบันยังไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเลย แต่ในอนาคตคาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(คาร์บอนไดออกไซต์) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม

อีกทั้งยังได้เปิดโครงการฝึกอบรมยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเพื่อรองรับนโยบายผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพและยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้มีความเข้มแข็ง พร้อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยดูแลค่าครองชีพที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นให้ได้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ในราคาที่เป็นธรรม ตลอดจนเป็นช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วประเทศในการกระจายสินค้าไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้าปลีกรายย่อย/ร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในระยะยาว ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและมั่นคงตามไปด้วย

ไม้ยืนต้น3

โดยโครงการฝึกอบรมฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 29 พฤศจิกายน 2561 แบ่งออกเป็น 11 รุ่น ครอบคลุมร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในจังหวัดขอนแก่น จำนวนทั้งสิ้น 891 ร้านค้า (รองรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครบทุกตำบล อย่างน้อยตำบลละ 1 ร้านค้า) ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นมีประชากรทั้งสิ้น 1,805,910 คน แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 26 อำเภอ 199 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 358,129 คน  รวมถึงลงพื้นที่เพื่อติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของรัฐบาล ณ สหกรณ์การเกษตรน้ำพอง จำกัด ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะดูดซับผลผลิตข้าวเปลือกในช่วงออกสู่ตลาดมากของรัฐบาล เช่น  โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บ ตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร

“ปัจจุบันเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกในระดับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวเปลือกหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีราคาเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่ตันละ 17,700 บาท (เกี่ยวสด ตันละ 13,500 - 14,500 บาท) ในส่วนของข้าวเหนียวได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จากราคาตันละ 7,700 - 9,800 บาท เมื่อปีที่แล้ว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 9,000 - 10,500 บาท”

e-book-1-503x62-7