สหรัฐสนลงทุนระเบียงศก.ใต้ ส่งเจ้าหน้าที่ลุยเก็บข้อมูลเชิงลึกก่อนตัดสินใจ

17 พ.ย. 2561 | 00:30 น.
สหรัฐฯส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแผนเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พร้อมพบภาคเอกชนระนอง ทำข้อมูลให้ภาคเอกชนใช้ตัดสินใจลงทุน เผยสหรัฐฯให้ความสนใจทุกพื้นที่ แต่ต้องมีความชัดเจนในด้านต่างๆ

lo05
นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า นายเจค็อป ซูลท์ซ (Jacob Schuitz) เลขานุการเอกและเจ้าหน้าที่แผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ลงพื้นที่จังหวัดระนอง และได้เข้าพบตนเองและประชุมร่วมกับกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง เพื่อปรึกษาและทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนา โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเซาเธิร์น อีโคโนมิก คอร์ริดอร์ (เอสอีซี) และนโยบายโครงการลงทุนโครงข่ายคมนาคมเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรชุมพร-ระนอง และโครงการอื่นๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลและนักลงทุนในสหรัฐฯต่อไป

นายเจค็อป ซูลท์ซ เลขานุการเอกและเจ้าหน้าที่แผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า “สาเหตุที่เดินทางมายังจังหวัดระนอง ก็เพื่อต้องการรับทราบข้อมูลต่างๆ โดยตรงจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปรายงานต่อรัฐบาล และนำข้อมูลเสนอต่อนักลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่งการลงทุนในทุกภูมิภาคทั่วโลก สหรัฐฯให้ความสนใจ แต่การตัดสินใจลงทุน ต้องมีความชัดเจนในด้านต่างๆ”

นายธีระพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 นายเจษฎา กตเวทิน อธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกาและคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนอง ร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยมีนายพรเทพ ผ่องศรี รองผู้ว่าฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาจังหวัดระนอง ในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยมีการลงพื้นที่ท่าเรือระนอง เพื่อเยี่ยมชมและสำรวจศักยภาพด้วย

MP21-3418-A

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่หรือครม.สัญจร เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 ที่จังหวัดชุมพร มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) อย่างยั่งยืน โดยเห็นว่าพื้นที่ภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมาการจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่กระจัดกระจายและขาดการเชื่อมต่อ เบื้องต้นจึงจะมุ่งพัฒนาใน 4 จังหวัดก่อน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง คือ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ครม.ยังรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณา โดยให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ รวม 28 โครงการ มูลค่า 128,391 ล้านบาท ทั้งนี้ มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-ดอนสัก วงเงิน 11,000 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น วงเงิน 34,000 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง วงเงิน 12,000 ล้านบาท โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นโครงการด้านถนน ไทยแลนด์ริเวียร่า การบริหารจัดการระบบนํ้า การปรับปรุงงานด้านความปลอดภัยติดตั้งกล้องสมาร์ทซีซีทีวี ที่พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่ เป็นต้น

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,418 วันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2561 โปรโมทแทรกอีบุ๊ก