กลุ่มการค้า‘G2’

22 พ.ย. 2561 | 09:31 น.
อาเซียนพลัส

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและกับประเทศคู่ค้า นอกจากมีผลต่อการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนใหม่ในตลาดโลก ได้แก่ 1.เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าใหม่จากตลาดที่มีการซื้อขายกันเดิมๆ ไปสู่การตลาดที่ซื้อขายใหม่ เช่น กรณีการขึ้นภาษีถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ของจีน ทำให้จีนต้องหันไปนำเข้าถั่วเหลืองมาจากบราซิล และอาร์เจนตินาแทน ในขณะที่สหรัฐฯ จะมีผลผลิตของถั่วเหลืองเหลือเฟือ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาของถั่วเหลืองจะปรับลดลงในเร็ววันได้

[caption id="attachment_347163" align="aligncenter" width="503"] โดนัลด์ ทรัมป์ โดนัลด์ ทรัมป์[/caption]

2. เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตใหม่ที่พึ่งพิงวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ แทนจากประเทศเดิม เช่น กรณียุโรปขึ้นภาษีรถมอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์ของสหรัฐฯ ทำให้มอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปผลิตในยุโรปหรือประเทศไทยแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตอบโต้ภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 3. จะเกิดกลุ่มทางการค้าและการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าการจะทำ FTA ของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าที่คาดว่าได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น FTA กับอังกฤษ และ FTA กับญี่ปุ่น เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการทำ FTA กับแคนาดาและเม็กซิโก ที่เดิมรวมกลุ่มกันเป็น “ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ : North America Free Trade Agreement : NAFTA” ต้องเปลี่ยนเป็น “ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA)” ยุโรป

แต่กลุ่มประเทศการค้าและการลงทุนที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือ การร่วมกับทางการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
ระหว่าง “จีนกับยุโรป” จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่? เพราะทั้ง 2 กลุ่ม/ประเทศนี้ต่าง “หัวอกเดียวกัน” คือถูกสหรัฐฯ ตอบโต้ทางการค้าโดยขึ้นภาษีนำเข้าเหมือนกัน นอกจากนี้แล้วต่อไปเราจะได้เห็นการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ มีมากขึ้น หรือกลุ่มการค้าเดิมที่กำลังเจรจาหรืออยู่ในช่วงการดำเนินการ จะถูกเร่งให้เกิดการลงนามเร็วขึ้น เช่น กลุ่มความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค : Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP มี 16 ประเทศ และกลุ่มข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก : Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership : CPTPP) ประกอบด้วย 11 ประเทศ

สำหรับกลุ่ม G2 (จีนกับยุโรป) จะมีความสำคัญต่อการค้าและการค้าลงทุนของโลกดังนี้ 1. กลุ่ม G2 จะกลายเป็นกลุ่มการค้าขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกมูลค่า 29.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ตัวเลขของ IMF ปี 2560 GDP จีนเท่ากับ 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ GDP ยุโรป 17.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มากกว่า GDP ของสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ 19.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2. ก่อให้เกิดช่องทางการค้าใหม่และห่วงโซ่การผลิตแทนที่สหรัฐฯ เพราะสินค้าของจีนและยุโรปที่ทำการซื้อขายกันปัจจุบันเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับที่จีนซื้อขายกับสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าการค้าของโลกไม่หยุดชะงัก ในปี 2560 ยุโรปขาดดุลการค้ากับจีน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ได้ดุลการค้าบริการกับประเทศจีน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 3. ผลดีต่อยุทธศาสตร์ “Made in China 2025 และ One Belt One Road” ต้องไม่ลืมว่า Made in China 2025 นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้อุตสาหกรรมจีนเป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัยหรือที่เรียกว่า “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงอย่างมาก การร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับยุโรปจึงเป็นประโยชน์กับจีนอย่างมหันต์ นวัตกรรมหลายอย่างจีนได้พัฒนาไปไกล แต่ยังขาดอีกหลายอย่างที่จีนอาจจะต้องเรียนรู้จากยุโรป

นอกจากนี้จุดสิ้นสุดบนเส้นทางของ One Belt One Road ก็ไปจบที่สถานียุโรป ฉะนั้นการได้มีสินค้าเข้าไปสู่ตลาดยุโรปจึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับจีน 4.อุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรป “ได้ไปต่อ” อย่าลืมว่า สิ่งที่ประเทศยุโรปกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือการเก็บภาษีรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีอย่างมาก การที่จีนเปิดตลาดให้จึงเป็น “ช่องทางหายใจของอุตสาหกรรมรถยนต์ยุโรป” 5.เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการฟุตบอลของจีนกับยุโรป แม้ว่าอาจจะไม่ใช่เป็นของความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนโดยตรงก็ตาม แต่สิ่งที่ฟุตบอลยุโรปมี ทั้งการพัฒนาลีกการแข่งขัน การเข้าร่วมฟุตบอลโลก การพัฒนาทักษะของนักเตะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนใฝ่ฝัน 6.เกิดแก่นทางการค้าและการลงทุนของโลกใหม่ ในอนาคตประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆจะต้องหันไปพึ่งพิงตลาด “G2” มากขึ้น แล้วในอนาคตเราอาจจะเห็นกลุ่มการค้าเสรีกลุ่มใหม่เกิดขึ้น โดยมีทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นแกนกลาง ซึ่งยุโรปเองอาจจะยินดีเพราะต้องการต่อกรทางเศรษฐกิจและรักษาสมดุลกับสหรัฐฯ อยู่แล้ว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3418 วันที่ 15-17 พฤศจิกายน พ.ศ.2561