ลุยเอาผิด "ร่วมทุนยาง" !! บอร์ด กยท. ผวาร่วมชดใช้ค่าเสียหาย 200 ล้าน

15 พ.ย. 2561 | 04:03 น.
บอร์ด กยท. ลุ้น 'กฤษฎา' สั่งสอบร่วม 5 บิ๊กยาง ตั้งบริษัทร่วมทุนแล้วบริหารงานล้มเหลว ฉุดราคายางตกตํ่าซํ้าซากรอบกว่า 10 ปี ผวาถูกลงโทษและชดใช้ค่าเสียหาย 200 ล้าน ขีดเส้น 30 วัน ทราบผล ขณะ 'กฤษฎา' ลั่น! ปิดประตู 'เซี่ยงไฮ้ฯ' เช่าสวนยาง 2 หมื่นไร่

จากนโยบาย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัจจุบันรองนายกรัฐมนตรี) ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดตั้ง บริษัท ร่วมทุนยางพารา จำกัด ร่วมกับ 5 บริษัทผู้ค้ายางพาราใหญ่ ได้แก่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (บมจ.), บริษัท เซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด (บมจ.), บมจ.ไทยฮั้วยางพารา, บจก.วงศ์บัณฑิต และบมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท แต่มีการบริหารงานที่ล้มเหลว ขาดทุน ส่อทุจริต จึงเป็นที่มาของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คนล่าสุด) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ว่า การร่วมทุนนั้นมีความถูกต้องหรือไม่ อย่างไร


TP8-3418-A

นายสาย อิ่นคำ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. แต่ละครั้ง ทางฝ่ายผู้แทนเกษตรกรไม่มีใครเห็นด้วยเลยที่จะให้ กยท. ไปลงทุนร่วมกับ 5 บริษัท ในนาม บจก.ร่วมทุนยางพารา แต่ก็แพ้เสียงข้างมาก ทำให้บริษัทดังกล่าวนี้เกิดขึ้น และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไล่ช้อนซื้อยางพาราในตลาดต่าง ๆ เพื่อดันราคาขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เกิดเป็นข้อครหาซื้อเอื้อพวกกลุ่มเดียวกัน ชาวสวนรายอื่นไม่ได้ประโยชน์เลย จึงทำให้ราคายางตกตํ่าในรอบกว่า 10 ปี จากผลงานดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน หากพบมีการทุจริต อาจจะมีความผิดต้องให้ชดใช้ค่าเสียหายคล้ายคดีจำนำข้าวที่บริหารงานล้มเหลว อาทิ เงินที่ กยท. นำไปร่วมลงทุน 200 ล้านบาท บอร์ดมีกี่คน ก็นำเงินมาเฉลี่ยคืน ใครไม่มีก็ยึดทรัพย์ หรือ ติดคุก เป็นต้น

ด้าน นายเสนีย์ จิตตเกษม กรรมการ กยท. ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบบริษัทร่วมทุนยางพารา กล่าวว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน โดยการร่วมทุนมี 3 ประเด็น ที่ต้องตรวจสอบ คือ 1.เป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางหรือไม่ และช่วยกระตุ้นราคายางในตลาดได้จริงหรือไม่ อย่างไร 2.แต่ละบริษัทที่นำเงินมาร่วมทุน (รายละ 200 ล้านบาท) จ่ายครบถ้วนหรือไม่อย่างไร 3.นำเงินลงทุนไปซื้อยางที่ไหน และปัจจุบัน 5.ยางเหลือเท่าไร เก็บไว้ที่ไหน โดยจะตรวจสอบจากพยานบุคคลและพยานเอกสาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม คาดจะเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน (ณ วันที่ 12 พ.ย. 61 ยังเหลือเวลาตรวจสอบอีกกว่า 20 วัน)


ยาง-2

"ในการตั้งบริษัทได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากบอร์ด แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสามารถขอความเห็นชอบในภายหลังได้หรือไม่ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวมส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาชี้ขาดว่า ใครมีความผิดในขั้นตอนไหน อย่างไร และมีบทลงโทษหรือไม่ อย่างไร"

นายนพดล กีรติกรพิสุทธิ์ นายอำเภอทุ่งใหญ่ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองผู้เข้าทำประโยชน์ที่ดิน 4,600 ไร่ ของป่ากรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของกรมป่าไม้ เป็นนโยบายของจังหวัดที่จะนำที่ดินมาจัดสรรในการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บนํ้าคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีทั้งหมด 400 ครัวเรือน จะนำมาจัดสรรทั้งหมดหรือไม่ ต้องกลั่นกรองใหม่ทั้งหมด ส่วนลูกจ้าง กยท. ที่อยู่ในที่ดิน ทางจังหวัดก็คงจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป ทางคณะไม่ทราบรายละเอียด

"ฐานเศรษฐกิจ" สอบถาม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องดังกล่าว ได้รับคำตอบสั้น ๆ ว่า ได้เห็นชอบให้ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บนํ้าฯ ให้จังหวัดไปจัดสรรที่ดินแล้ว ส่วนพื้นที่ติดกัน ที่ บจก. "เซี่ยงไฮ้ ไทย รับเบอร์ โปรดักส์" จะมาขอเช่าพื้นที่สวนยาง 2 หมื่นไร่ เพื่อลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องนั้น ไม่มีนโยบายให้เช่าเด็ดขาด


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,418 วันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2561

595959859