แคตโนมิกส์ เศรษฐกิจแมวดัน

04 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
ในประเทศญี่ปุ่น นโยบายเศรษฐกิจของท่านนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อนโยบายอาเบะโนมิคส์ (Abenomics) ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้พ้นจากภาวะซบเซาและปัญหาเงินฝืด แต่ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจภาพเล็กในเซกเมนต์ค้าปลีก กำลังมีศัพท์ใหม่ที่เข้ามาสร้างสีสันและทำให้บรรยากาศการค้าขายคึกคักไม่ใช่น้อยๆ ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ คำว่า เนะโกะโนมิคส์ (nekonomics) หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า catnomics แปลเป็นไทยๆ น่าจะประมาณว่า "เศรษฐกิจแมวดัน" ซึ่งหมายถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือการพุ่งขึ้นของยอดขายที่มี "แมว" เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขึ้นนั่นเอง

[caption id="attachment_35137" align="aligncenter" width="500"] ผู้เลี้ยงแมวในญี่ปุ่น ผู้เลี้ยงแมวในญี่ปุ่น[/caption]

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเพราะมีสถิติชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา (2558) บรรดา "ทาสแมว" หรือผู้เลี้ยงแมวในญี่ปุ่นมีการใช้เงินซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงดูแมวเหมียวแสนรักคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 2.3 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกลบคูณหารคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 7.56 แสนล้านบาท!

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแมวในทุกรูปแบบล้วนได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอาหารแมว เสื้อผ้าแมว ของใช้สำหรับแมว และแม้กระทั่งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ยังได้รับประโยชน์เมื่อมีการตีพิมพ์คอลัมน์เกี่ยวกับแมว ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมา เมื่อนิตยสารโจเซอิ ชิจิน ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิงได้ออกแบบสำรวจว่าลูกค้าต้องการเนื้อหาเพิ่มเติมในเรื่องอะไร ผลสำรวจชี้ว่าลูกค้าหรือผู้อ่านต้องการเซกชั่นพิเศษที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแมวล้วนๆ ทางกองบรรณาธิการก็เลยจัดให้ตามคำขอ โดยมีการตีพิมพ์เซกชั่นพิเศษชื่อว่า เนะโกะ ชิจิน (เนโกะในภาษาญี่ปุ่นก็คือ แมว นั่นเอง) เจาะลึกทุกเรื่องเกี่ยวกับน้องเหมียว จากเดิมที่เคยตีพิมพ์เพียง 7-8 พันเล่ม พอมีเซกชั่นพิเศษนี้ ทางบริษัทตัดสินใจพิมพ์ 5.2 หมื่นเล่ม ผลปรากฏว่าสามารถขายเกลี้ยงแผงในเวลาอันรวดเร็ว จนต้องมีการพิมพ์ซ้ำออกมาอีก และสุดท้ายก็ทำยอดขายรวมได้ที่ 9.2 หมื่นเล่ม ทุบสถิติที่เคยทำมาทั้งหมด เรียกได้ว่าได้อานิสงส์จากแมวอย่างแท้จริง

[caption id="attachment_35138" align="aligncenter" width="500"] แมว แมว[/caption]

อีกปรากฏการณ์ที่ช่วยตอกย้ำการเบ่งบานของแคทโนมิคส์ในญี่ปุ่นก็คือ การที่เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์อย่าง "อเมซอน แจแปน" เปิดเซกชั่นใหม่เจาะขายสินค้าเกี่ยวกับแมวโดยตรงเรียกว่า แคทสโตร์ (Cat Store) จำหน่ายสินค้าแมวออนไลน์จำนวนมากกว่า 2.6 หมื่นรายการ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สินค้าทุกอย่างเกี่ยวกับแมวที่คุณต้องการมีรวมอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารแมว ปลอกคอ เสื้อผ้า ของเล่น กระบะทรายแมว เตียงแมว คอนโดแมว ฯลฯ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในญี่ปุ่นก็คือ การเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ของคนที่อยู่ต่างจังหวัดและต้องอยู่ในหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ที่มีขนาดเล็ก ความเหงาทำให้ต้องการเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา แต่ด้วยพื้นที่มีอยู่จำกัด "แมว" จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าน้องหมา และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในหมู่ชายหนุ่มที่หันมาเลี้ยงแมวกันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งในเหตุผลว่า พอเลี้ยงแมวแล้ว นอกจากจะมีเพื่อนคลายเหงา แมวยังเป็นเหมือน "นางกวัก" ที่ช่วยให้พวกเขามีสาวๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้น เพราะพอเลี้ยงแมวแล้ว พวกเขาก็มีหัวข้อสนทนากับพวกสาวๆ มากขึ้น และเมื่อพวกเธอมาเที่ยวที่บ้านหรือที่ห้องของพวกเขา เจ้าเหมียวก็จะเข้ามาสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายทำให้สาวๆ ใช้เวลากับพวกเขามากขึ้นด้วย
ข่าวระบุว่า ตอนนี้ประชากรแมวและประชากรหมาในญี่ปุ่นไล่มาเกือบๆ จะทันกันแล้ว โดยหมายังนำอยู่เล็กน้อย แต่ก็เชื่อว่าสุดท้ายแล้วในอนาคตอันใกล้นี้ จำนวนประชากรแมวจะนำหน้าประชากรหมาในที่สุด
ป.ล. ทิ้งท้ายว่า แมวยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นและทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละไม่ใช่น้อยๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว "เกาะแมว" หรือ เนะโกะจิมะ (Nekojima) ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่มีแมวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก (บางแห่งก็ไม่ได้เป็นเกาะจริงๆ) มีอยู่อย่างน้อยถึง 11 แห่ง อาทิ หมู่บ้านมิสุคิจิมะในจังหวัดเอะฮิเมะ หมู่บ้านประมงมานาเบะชิมะ จังหวัดโอกายามะ และเกาะซานากิชิมะ จังหวัดคากาวะ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559