ปั้น ‘แคเรียร์วีซ่า’ แนะอาชีพที่ใช่ของคนรุ่นใหม่

15 พ.ย. 2561 | 05:28 น.
จากปัญหาของเด็กไทยในปัจจุบันพบว่ากว่า 80% ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายในอนาคตหลังจากเรียนจบ ต้องการประกอบอาชีพอะไร อีกทั้งในยุคสมัย ที่กระแสของเทคโนโลยีดิจิตอลกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้องค์กรและธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัว “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นางสาวธีรยา ธีรนาคนาท หนึ่งในซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Career Visa Digital แพลตฟอร์มเพื่อแนะแนวการศึกษา 1 ในสตาร์ต อัพผู้เข้ารอบโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 6 ที่ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจจากบริการออฟไลน์สู่ออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้งานมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของแคเรียร์วีซ่า

[caption id="attachment_346575" align="aligncenter" width="337"] ธีรยา ธีรนาคนาท ธีรยา ธีรนาคนาท[/caption]

แรกเริ่มแคเรียร์วีซ่าเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ในรูปแบบออฟไลน์โดยเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2558 ในการช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้ค้นหาอาชีพที่ใช่ของตัวเอง เนื่องจากตัวเรา และผู้ร่วมก่อตั้งมีความรู้สึกว่าปัจจุบันยังไม่มีความช่วยเหลือเหล่านี้อยู่ในมหาวิทยาลัย จึงคิดว่ามันควรจะต้องมีใครสักคน ที่จะมาแนะแนวน้องๆ ก่อนที่จะเรียนจบ ว่าควรจะหาอาชีพที่ใช่ของตัวเองอย่างไร นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แคเรียร์วีซ่าเริ่มจัดอีเวนต์ในรูปแบบบูธแคมป์ขึ้นมาเพื่อช่วยดูในเรื่องเรซูเม่ การสัมภาษณ์งาน และการฝึกงาน ซึ่งทำให้ได้มาค้นพบทีหลังว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เพียงไม่รู้แค่นั้น แต่เขาไม่รู้ว่าเป้าหมายอาชีพของตัวเองในอนาคตคืออะไร

S__14688290 “แคเรียร์โค้ช” ชี้เป้าอาชีพ

ปัจจุบันแคเรียร์วีซ่าได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มบนช่องทางออนไลน์ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน โดยมีผู้ที่ให้คำปรึกษา หรือที่เรียกว่า “แคเรียร์โค้ช” แก่เด็กที่ยังไม่รู้เป้าหมายในอนาคตว่าอยากจะทำอาชีพอะไรและไม่รู้ว่าอาชีพแต่ละอาชีพนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งแคเรียร์โค้ชจะช่วยตอบข้อซักถามเหล่านี้ ซึ่งเป็นเซ็กชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จึงได้นำแคเรียร์โค้ชมาไว้บนเว็บไซต์แคเรียร์วีซ่าเพื่อให้คำปรึกษาผ่านช่องทางวิดีโอคอลล์ในรูปแบบบริการออนไลน์ รวมถึง ยังมีวิดีโอ ไลบารีที่เป็นบทสัมภาษณ์ของโค้ชแต่ละท่านเพื่อที่ให้เด็กได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในแต่ละสาขาอาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเว็บ ไซต์นั้นเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานหลังจากที่เข้าร่วม โครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ปี 6 นอกจากนี้ แคเรียร์วีซ่ายังได้มีการพัฒนาหลักสูตรแคเรียร์ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาสามารถวิเคราะห์ตัวเองและค้นหาอาชีพจากการทำแบบทดสอบใน 5 ด้าน ใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปแมตช์กับดาต้าเบสเพื่อดูว่าเด็กแต่ละคนเหมาะกับการทำอาชีพใด

ค่าบริการ 500 ต่อชั่วโมง

ขณะที่โมเดลธุรกิจและสัดส่วนรายได้การให้คำปรึกษาของแคเรียร์โค้ชนั้น มีค่าบริการ อยู่ที่ 500 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งแพลตฟอร์มจะได้รับ 40% โค้ช 60% ปัจจุบันมีแคเรียร์โค้ชอยู่ที่ประมาณ 60 คนในหลากหลายอาชีพ อาทิ ด้านบริหารธุรกิจ ธนาคาร นักการตลาด หรือวิศวกรรม ที่เคยร่วมในงานอีเวนต์มาก่อน ซึ่งเป็นคนที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงาน 3 ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่จะเป็นในสายบริหารธุรกิจเนื่องจากการสำรวจพบว่าอาชีพที่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ให้ความสนใจและอยากจะทำมากที่สุดหากไม่ใช่อาชีพที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา คือด้านบิสิเนส

เล็งเป้าใหญ่กลุ่มนักศึกษา

ในช่วงแรกจะมุ่งเน้นไปที่มหาวิทยาลัยมากกว่า B2C ซึ่งปัจจุบันได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของเรา โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและสตาร์ตอัพที่ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เพื่อให้แพลตฟอร์ม แคเรียร์วีซ่า เป็นที่รู้จักในวงของนิสิตนักศึกษา

หลังจากที่ได้มีการทดสอบการใช้งานไป พบว่าเด็กส่วนใหญ่มีการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่าการใช้บนเดสก์ท็อป ทำให้ขณะนี้เราต้องมาพัฒนาในส่วนของตัวแอพพลิเคชันเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจุดแข็งของแคเรียร์วีซ่าคือบริการแบบ One Stop Service ที่ครอบคลุมความต้องการได้ครบหมดในที่เดียว โดยตั้งเป้าไว้ว่า ในช่วงแรกประมาณไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2562 จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และอีกประมาณ 1-2 ปี คาดว่าจะขยายไปยังมหาวิทยาลัยในต่างประเทศด้วย

สัมภาษณ์ | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,418 ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว