'ทีเส็บ' สรุป 'ไมซ์' ปี 61 'จีน' ครองแชมป์ ต่างชาติโต 19%

13 พ.ย. 2561 | 04:30 น.
'ทีเส็บ' สรุปภาพรวมธุรกิจไมซ์ ปี 61 ชี้! โตเกินเป้า มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศเพิ่มกว่า 19% ขณะที่ โดเมสติกไมซ์สร้างรายได้เพิ่มกว่า 28% ดันปิดปีงบประมาณสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 2.1 แสนล้านบาท



re_TU4_6626 (1)

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของทีเส็บในปีงบประมาณ 2561 ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ปี 2561 มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ รวม 34,267,307 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศไทย รวม 212,924 ล้านบาท อันเป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐบาล ที่ต้องการให้ธุรกิจไมซ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความพร้อมและมาตรฐานของสถานที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และไมซ์ซิตี้อีก 4 แห่ง ตลอดจนความเป็นมืออาชีพของบุคลากรไมซ์ ที่มีความสามารถและได้มาตรฐานมากขึ้น ทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างชาติให้ความมั่นใจประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงาน ขณะเดียวกัน ภายในประเทศเองยังมีนโยบายส่งเสริมการประชุมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างการกระจายรายได้ และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของภาคชุมชนด้วย

โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศทั้งสิ้น 1,255,985 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 19.85 ก่อให้เกิดรายได้จากการใช้จ่าย 95,623 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต ร้อยละ 8.10 มีระยะพำนักเฉลี่ย 5 วัน และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 76,135 บาท โดยกลุ่มหลักที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นนักเดินทางธุรกิจชาวเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 85.77 ของจำนวนนักเดินทางทั้งหมด ซึ่ง 10 อันดับของประเทศที่เดินทางเข้ามา คือ จีน 214,877 ราย, อินเดีย 152,638 ราย, มาเลเซีย 146,387 ราย, สิงคโปร์ 84,211 ราย และเกาหลี 71,141 ราย, เวียดนาม 55,306 ราย, สปป.ลาว 55,125 ราย, ญี่ปุ่น 51,361 ราย, อินโดนีเซีย 51,320 ราย และฟิลิปปินส์ 42,398 ราย


OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ขณะเดียวกัน ยังมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์จาก 5 ประเทศ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ แคนาดา เติบโตร้อยละ 309.97%, กัมพูชา เติบโตร้อยละ 182.25%, เมียนมา เติบโตร้อยละ 137.32%, เวียดนาม เติบโตร้อยละ 109.26% และนิวซีแลนด์ เติบโตร้อยละ 78.92% ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่ม CLMV กำลังเกิดการขยายตัวและมีการเดินทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ส่วนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศมีจำนวน 33,011,322 ราย ก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจ 117,301 บาท ซึ่งในแง่ของรายได้นั้น มีการเติบโต 28.89% เป็นผลมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยอันเกิดมาจากการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูง ในปีนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.5 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัว ร้อยละ 4 ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในการออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอบรมสัมมนาใน 55 เมืองรอง ให้สามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายจากการจัดประชุมสัมมนาได้ 100%

อีกทั้งจากผลการวิจัยของ บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากธุรกิจไมซ์ นอกจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงานในปี 2561 มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น (Total Expenditure) มูลค่าถึง 251,400 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 316,000-405,000 ล้านบาท ในปี 2565 ผลกระทบทางเศรษฐกิจของกิจกรรมในธุรกิจไมซ์มีมูลค่า 177,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP Contribution) ก่อให้เกิดการจ้างงาน 181,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับประเทศไทยได้กว่า 23,400 ล้านบาท


IMPACT Arena (12) (1)

นายจิรุตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2561 ทีเส็บสนับสนุนการจัดงานด้านไมซ์ในไทยเป็นจำนวนมาก แยกเป็น 1.กลุ่มธุรกิจประชุมสัมมนา (Meeting) และอินเซนทีฟ (Incentive) มีการสนับสนุน 231 งาน เติบโตในแง่ของจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 26.03 โดยมีงานที่มีขนาดใหญ่เป็น Mega Event อาทิ Herbalife China Extravaganza 2017 (20,000 ราย), Infinitus (China) Overseas Training 2018 (10,000 ราย), Herbalife North Asia Extravaganza 2018 (10,000 ราย) และ Date with Destiny (QNET Dream International Convention 2018) (8,000 ราย)

2.กลุ่มธุรกิจงานประชุมนานาชาติ (Convention) มีการสนับสนุน 108 งาน เติบโตในแง่ของจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์เมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 61.23 อาทิ MDRT Experience and Global Conference 2018 (6,270 ราย), การประชุมนานาชาติ Affiliate World Asia 2017 (2,900 ราย), SportAccord Convention 2018 (2,000 ราย) และ Techsauce Global Summit 2018 (1,500 ราย)

3.กลุ่มธุรกิจงานแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibition) มีการสนับสนุน 37 งาน แบ่งออกเป็น Upgrade Show จำนวน 28 งาน และ New Show จำนวน 9 งาน โดยงานใหม่ที่สำคัญ อาทิ Taiwan Expo in Thailand 2018 ซึ่งจัดโดยหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ประกอบด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตนั้น ในปีนี้ทีเส็บได้ดึงงานตลอดจนให้การสนับสนุนการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นจำนวน 217 งาน แบ่งเป็นคลัสเตอร์ไมซ์ตามอุตสาหกรรม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ Food Agriculture & Bio-Tech (ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ) จำนวน 18 งาน

2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ Health Wellness & Bio Med (ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร) จำนวน 58 งาน

3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม Smart Devices, Robotics Mechatronic (ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนตร์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์) จำนวน 41 งาน

4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เชื่อมต่ออุปกรณ์ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว Digital IOT & Convergence (ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิตอล) จำนวน 29 งาน

5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง Creative Culture & High Value Services (ประกอบด้วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยว) จำนวน 71 งาน

e-book-1-503x62-7