อาทิมา สุรพงษ์ชัย สตาร์ตอัพ...นักเรียนรู้ ที่กล้าคิดกล้าลอง

03 มี.ค. 2559 | 00:30 น.
ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลง ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องใหม่ๆ ด้วยแล้ว มันคือสาเหตุที่ทำให้เกิดธุรกิจในรูปแบบที่เราเรียกกันว่า สตาร์ตอัพ (start up) มากมายเต็มไปหมด แต่คนที่จะพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพให้ประสบความสำเร็จ จะมีซักกี่คน และขั้นตอนของความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นมาจากอะไร เรื่องนี้คงต้องไปถามสาวเก่ง "อาทิมา สุรพงษ์ชัย" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอฟลิกซ์ซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ subscription on demand หรือการดูคอนเทนต์บันเทิงผ่านเครื่องมือ (Device) สื่อสารต่างๆ ภายใต้ชื่อ iflix ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่มาเลเซีย

"คุณขิม-อาทิมา" ถือเป็นผู้บริหารหญิง ที่มีความสามารถในการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ สตาร์ตอัพ เธอเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอคโค่ 360 จำกัด บริษัทผู้พัฒนาระบบการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยได้ขยายธุรกิจ ฟรีบี้ ธุรกิจสื่อโฆษณารูปแบบใหม่ผ่านโทรศัพท์มือถือ จนมีผู้สมัครใช้บริการถึง 3 แสนคนภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี และเธอยังมีประสบการณ์ด้านที่ปรึกษาธุรกิจให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แคลริส จำกัด บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

[caption id="attachment_34923" align="aligncenter" width="500"] อาทิมา สุรพงษ์ชัย อาทิมา สุรพงษ์ชัย[/caption]

ขณะที่จบการศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้จบการศึกษาปริญญาตรีและโท สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัย อิมพีเรียลคอลเลจ ออฟ ซายน์ เทคโนโลยี แอนด์ เมดิซีน ที่ประเทศอังกฤษ

ผู้หญิงคนนี้มีความเป็นศิลป์ และศาสตร์อยู่ในตัว เพราะได้อิทธิพลมาจากคุณพ่อ - วินิจ สุรพงษ์ชัย ที่เป็นคนโฆษณาชื่อดัง และมีคุณแม่เป็นนักบัญชี เป็นต้นแบบในการคิดและการทำงานของเธอ

"อาทิมา" บอกว่า เธอโชคดีที่ได้รู้จักกับซีอีโอของ ไอฟลิกซ์ ขณะที่ช่วงนั้นฟรีบี้กำลังซวนเซ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ธุรกิจโฆษณาซบเซามากๆ ทั้งๆ ที่ช่วงแรกกำลังไปได้ดี เธอมีเวลาเพียง 2 วันในการทำแผนและกลยุทธ์การทำตลาดในเมืองไทย แต่เธอก็สามารถขายไอเดียผ่าน จนได้รับโอกาสเป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งไอฟลิกซ์ ประเทศไทย และยังมีแผนที่จะพัฒนาหน่วยงานขึ้นรองรับการทำงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอฟลิกซ์อีกด้วย

ระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี เธอสามารถสร้างฐานสมาชิกของไอฟลิกซ์ได้ถึงกว่า 5 แสนคน และสิ้นปีนี้มีเป้าที่จะขยายการเติบโตไปถึง 2 ล้านสมาชิกอย่างแน่นอน

ความมั่นใจเหล่านี้ เธอบอกว่าเกิดจากสินค้าที่มีความแข็งแกร่งอยู่ในตัว คอนเทนต์บันเทิงทั้งหนังและซีรีส์อัดแน่น และการบริการที่ตรงไปตรงมา (Be Real) แพ็กเกจเดียว เดือนละ 100 บาท ปีละ 1,000 บาท ดูได้ทุกเรื่องไม่อั๋น "อาทิมา" บอกว่า เธอเน้นการสื่อสารกับทั้งทีมและผู้บริโภค รวมไปถึงพาร์ตเนอร์ด้วยภาษาง่ายๆ คุยกันง่ายๆ แต่ครอบคลุม และจริงใจ (Be Simple) กล้าคิด กล้าพูดกล้าทำ (Be brave) เพราะไอฟลิกซ์เป็นบริการใหม่ มีคู่แข่งในตลาด ถ้าทำครึ่งๆ กลางๆ คงไม่มีทางสำเร็จ และที่สำคัญคือ กล้าปรับปรุง กล้าถาม (Be Curious) เพราะด้วยความที่เป็นสื่อบันเทิง สื่อใหม่ ที่คนอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ก็ทำให้ผู้บริโภค ได้รับสินค้าที่สนุก (Be Playful) และดีไปด้วยพร้อมๆ กัน

ทุกอย่างที่เธอใช้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น Be Real, Be Simple, Be Curious และBe Playful เธอนำมาใช้กับพาร์ตเนอร์ และทีมงานด้วยทั้งสิ้น เพราะนี่คือการสร้างทีม และเรียนรู้ทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน กับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เพียงแค่คนไทยจะเพิ่งรู้จัก คนทั่วโลกก็เพิ่งรู้จักธุรกิจนี้ได้ไม่นานเหมือนกัน

"อาทิมา" บอกว่า เธอได้เรื่องการคิดวิเคราะห์ การหาข้อมูล การศึกษาวิจัยมาจากการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับหลายๆ องค์กร ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า การทำตัวเป็นเหมือนฟองน้ำ ซึมซับทุกอย่างมาให้มากที่สุด แล้วนำมาวิเคราะห์ จะทำให้เห็นทิศทางว่าควรทำอย่างไร เดินหน้าอย่างไร แก้ไขอย่างไร

"ต้องลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน เราอ่านหนังสือ เรื่อง LEAN Stratup โมเดลของเขาคือ รีบร้อนเอาโปรดักต์หนึ่งออกไป เพื่อให้เราได้เรียนรู้จากมันให้ได้เร็วที่สุด เขาคือ สร้าง(built) ทดสอบ (test) เพื่อให้ได้ข้อมูล (learn)"

สิ่งสำคัญในการเรียนรู้คือต้องเร็ว หากใครเรียนรู้ได้เร็ว แก้ไขได้ก่อน ในธุรกิจนี้ก็ถือเป็นผู้ชนะ การลองผิดลองถูกไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพ แต่ต้องเร็ว และรีบแก้ไข ดังนั้น ข้อมูลจึงถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการเป็นสตาร์ตอัพอย่างเธอ "อาทิมา" บอกว่า คนอื่นอาจจะกลัวข้อมูล กลัวตัวเลข ไม่ชอบการวิเคราะห์ แต่เอเป็นเด็กวิทย์คณิต ที่ชอบการคำนวณ การวิเคราะห์มากๆ และมันก็คือพื้นฐานในการช่วยตัดสินใจที่ดี แม้จะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะเรื่องบางเรื่องก็ต้องใช้อารมณ์ ใช้การคาดเดา แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีข้อมูล และพร้อมเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข

วิธีการทำงานของผู้หญิงเก่งคนนี้ เธอบอกว่า ต้อง work smart ทำงานให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มากที่สุด แต่ถ้าพลาด ก็ต้องยอมรับ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ทำผิดพลาดได้ แต่ต้องเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้เกิดจากความสะเพร่า และเรียนรู้ที่จะแก้ไขไม่ให้ผิดซ้ำสอง

ที่ผ่านมา เธออาจเคยผิดพลาดบ้าง จากสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ธุรกิจที่ทำต้องพับไป แต่เอก็พร้อมลุกขึ้นสู้ใหม่ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว นี่คิดสิ่งที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ยุคนี้ควรต้องมี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559