ก. แรงงาน เร่งทำงานเชิงรุกรับ‘สังคมผู้สูงอายุ’

01 มี.ค. 2559 | 06:09 น.
กระทรวงแรงงาน เร่งทำงานเชิงรุก รองรับ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ยืนยันทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเต็มที่ พร้อมศึกษารูปแบบจากประเทศเพื่อนบ้าน คาด 6 เดือนภาพการทำงานชัดเจนขึ้น

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัยและผู้ด้อยโอกาสเพื่อร่วมพิจารณาแนวทางในการส่งเสริม คุ้มครอง และขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุและผลการดำเนินงาน ปี 2558  ว่า กระทรวงแรงงานโดยนโยบายของพลเอกศิริชัย  ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้นโยบายการทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการศึกษารูปแบบจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ขยายอายุการทำงานเป็น 67 ปี เป็นต้น ฉะนั้น จึงต้องมีการศึกษาโดยรอบครอบ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการปรับแก้ไข ทั้งในเรื่องของกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติค่อนข้างมาก ซึ่งการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ร่วมกับคณะผู้บริหารของกระทรวงแรงงานครั้งนี้อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อนของสภา เพื่อที่จะนำร่างพระราชบัญญัติการจ้างงานผู้สูงอายุ พ.ศ. ....  ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รับช่วงต่อจากสภาปฏิรูปเดิมเพื่อมาสอบถามประเด็นเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเน้นเรื่องของการประเมินสมรรถนะของคนพิการ โดย จะมีการส่งเสริมให้มีการจ้างงาน ต่อหลังจากเกษียณแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการในเรื่องของผู้สูงอายุ โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และในปี พ.ศ. 2547 ได้มีประกาศกระทรวงแรงงานให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานสนับสนุนและดำเนินภารกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังที่ทราบกันว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ฉะนั้นต้องมีการเตรียมการที่จะขยายการจ้างงานของผู้สูงอายุให้มากขึ้นให้ยาวขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาศึกษาเตรียมการโดยละเอียด ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ร่วมเป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการผู้สูงอายุระดับชาติและคณะอนุกรรมการด้วย โดยได้เข้าสู่ระบบของการศึกษา กลยุทธ์ แผนกลยุทธ์การดูแลผู้สูงอายุทั้งระบบ ซึ่งในกลยุทธ์ที่ 3 กล่าวถึงเรื่องการจ้างงานของผู้สูงอายุไว้ ได้แก่ การส่งเสริม การขยายอายุการทำงานในภาคราชการ/ภาคเอกชน การส่งเสริม และการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งมีแนวปฏิบัติไว้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการในเรื่องของผู้สูงอายุอยู่แล้ว เช่น กรมการจัดหางาน ดำเนินการเรื่องการจัดหางานให้ผู้สูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการนำผู้สูงอายุมาเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและมาเป็นวิทยากร ทั้งการฝึกทักษะทั่วไป เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ในสถานประกอบการ มีการจ้างผู้ที่เกษียณแล้วในลักษณะของการเชิญมาเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา ฉะนั้น ภาพที่มีอยู่ในขณะนี้คือระบบของสมัครใจ ซึ่งจากนี้คงต้องพิจารณาในภาพการส่งเสริม การจ้างงานผู้สูงอายุในภาพรวมเพื่อให้รองรับโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อการขาดแคลนแรงงานด้วย

“ผู้สูงอายุที่มีความสามารถ ที่จะทำงานก็ต้องมีทางเลือก แล้วแต่ตำแหน่ง เช่น บริษัทญี่ปุ่นจ้างอยู่ถึงจะเกษียณโดยจะใช้ในลักษณะของการจ้างงานตลอดชีวิต ซึ่งเขาจะดูว่ายังทำงานไหวหรือไม่ การจ้างอาจจะต้องมีเรื่องของการจ้างแบบพาร์ทไทม์ เต็มเวลา ในรูปแบบจ้างเหมา การจ้างในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งจะต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยรอบครอบอีกครั้ง คาดว่าภายในระยะเวลา 6 เดือนภาพการทำงานในเรื่องนี้จะชัดเจนขึ้น รวมถึงการออกเป็นมาตรการในเรื่องต่างๆ  โดยกระทรวงแรงงานมีกองการแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ และแรงงานพิการเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว