เล็งจัดระบบขนส่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ลดการจราจรเพิ่มรายได้ท่องเที่ยว

03 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
กรมจ้าท่าผนึกเรือด่วนเจ้าพระยาและสมาคมเรือไทย เล็งดึงผู้ประกอบการขนส่งทางเรือยกระดับระบบโลจิสติกส์ในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมจัดระบบการขนส่งให้สอดคล้องหลังพบปริมาณการจราจรทางเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เผยเรือลากจูงขนาดใหญ่ต้องเว้นระยะให้เรืออื่นสามารถข้ามฝั่งได้อย่างสะดวก เรือด่วนเจ้าพระยาโอดรายได้และผู้โดยสารลด 10% เล็งยกระดับมาตรฐานเรือท่องเที่ยวโกยรายได้เพิ่ม

[caption id="attachment_34963" align="aligncenter" width="360"] ณัฐ จับใจ  รองอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) ณัฐ จับใจ
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.)[/caption]

นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เตรียมเชิญผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมหารือหลังพบว่า ปริมาณการจราจรในแม่น้ำเจ้าพระยามีความหนาแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรือลากจูงขนาดใหญ่ขนส่งสินค้าต่อเนื่องกันส่งผลให้สภาพการจราจรติดขัดเรือข้ามฝาก เรือโดยสารไม่สามารถใช้บริการได้

นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมด้านระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าทางเรือที่ปัจจุบันพบว่ามีการขนส่งสินค้าทางเรือ จากโซนพื้นที่พระนครศรีอยุธยาออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้อนสู่เรือขนาดใหญ่มากขึ้น จึงเตรียมเชิญผู้ประกอบการขนส่งและผลิตสินค้าป้อนการขนส่งทางเรือ ร่วมหารือเพื่อรับฟังแนวทางข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น

"ปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสมาคมเรือไทย ใช้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นหลักในการร่วมหารือครั้งนี้ กรณีดังกล่าวว่างเว้นมานานในการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ทางเรือ เนื่องจากในอดีตยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยากันมากขึ้น บ่อยครั้งที่ส่งผลให้สภาพการจราจรทางน้ำไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากไม่ได้รับฟังแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กรมเจ้าท่าจึงเปิดรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆจากผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพด้านการให้บริการต่างๆที่กรมสามารถจะดำเนินการได้เพื่อให้การขนส่งสินค้าทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยามีประสิทธิภาพ ตามที่ภาคเอกชนและรัฐบาลต้องการให้ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางน้ำกันมากขึ้น"

ด้านนายเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่จะจัดการร่วมหารือระหว่างผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือกับภาครัฐอย่างกรมเจ้าท่าเนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น เรือมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการใช้บริการโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็นที่ควรจะมีการจัดลำดับเวลาให้สอดคล้อง

"เรือไรท์เตอร์หรือเรือขนสินค้าใช้ความเร็วไม่ได้มาก จึงพบเห็นบ่อยครั้งที่มีการแซงระหว่างเรือที่มีน้ำหนักเบากว่าในบางช่วงในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ แนวทางหนึ่งนั้นควรจะกำหนดว่าเรือ 1 ลำไม่ควรพ่วงเกิน 4 ตัวพ่วง และควรทิ้งช่วงให้ห่างกันเพื่อเปิดโอกาสให้เรืออื่นๆ สามารถแทรกเข้าไปได้ อาทิ เรือโดยสาร เรือข้ามฝากเป็นต้น อีกทั้งควรกำหนดรอบให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป"

ปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยามีเรือให้บริการจำนวน 60 ลำ แต่นำไปให้บริการเพียง 48 ลำเท่านั้น ส่วนหนึ่งยังนำไปให้บริการเป็นเรือท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนั้นในอนาคตยังมีแผนแยกเรือท่องเที่ยวออกมาเป็นการเฉพาะโดยจะติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น โดยจะมีการปรับปรุงเรือท่องเที่ยวลำละ 3-5 ล้านบาทให้สามารถให้บริการได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

"ยังไม่มีนโยบายเพิ่มเรือโดยสารในขณะนี้เพราะเรือลดน้อยลง ตามปริมาณผู้โดยสารที่ลดลง เช่นเดียวกับรายได้ที่ลดลงจาก 2 กรณีคือ อัตราค่าโดยสารที่ปรับลดลงและปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงประมาณ 10% สำหรับรายได้จากค่าโฆษณาที่เป็นรายได้เสริมนั้นบริษัทในเครือรับไปดำเนินการก็จะมีต้นทุนด้านการตลาดและค่าโปรดักต์แต่จะเน้นการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากกว่า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559