'อุตตม' ลงพื้นที่ไร่อ้อยนครสวรรค์ ยัน! เร่งพัฒนาเศรษฐกิจ Bio ให้ยั่งยืน

11 พ.ย. 2561 | 11:26 น.
'อุตตม' ลงพื้นที่เยี่ยมชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ เร่งแก้ปัญหาด่วน 2 ข้อ รถบรรทุกอ้อย-รถลาก พร้อมยันค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อย-น้ำตาล ยันเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเทคโนโลยีชีวภาพให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2561 ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 จ.นครสวรรค์ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เวลา 09.30 น. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาเป็นประธาน เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ของสมาชิกชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ โดยมี นายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ และคณะ ให้การต้อนรับ


61BFBBDB-AF6C-4D83-8DC4-514DD9921F77

ทั้งนี้ นายอุตตม ในฐานะประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมชาวไร่อ้อย ได้กล่าวเปิดใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มาร่วมการประชุม ว่า เป็นโอกาสของกลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่จะร่วมกันเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนการปลูกอ้อย ที่นอกจากจะนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลแล้ว ยังสร้างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio) ทั้งการนำส่วนของอ้อยมาสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์รูปแบบไบโอพลาสติกและไบโอเคมี อย่าง เครื่องสำอาง, เคมีภัณฑ์, เวชภัณฑ์ ซึ่งหุ้นส่วนขณะนี้ คือ 1.กลุ่มเกษตรกร 2.กลุ่มโรงงาน 3.รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น ภายใน 2 ปี จึงมีความเป็นได้ที่จะปรับผลผลิตพืชผลทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเต็มรูปแบบ และเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

"จะดูแลกันอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นเศรษฐกิจเพื่อชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้มั่งคั่ง สร้างสรรค์ และยั่งยืนในเวทีโลก ก็ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าจะทำให้เป็นจุดแข็งของประเทศ เราเป็นหุ้นส่วน จะแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ให้อย่างเท่าเทียม ซึ่งวันนี้จะช่วยกันคิดว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไรที่จะแชร์ผลประโยชน์อย่างแฟร์ ๆ อย่าไปคิดว่าของเดิมดีอยู่แล้ว เอาของใหม่มาทำไม ขอยืนยันว่า เราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ-อุตสาหกรรมการเกษตร สร้างความมั่งคั่งให้เกษตรกร โดยไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งผลผลิตทางเกษตรที่ส่งออกอันดับ 1 ก็คือ มันสำปะหลัง, อันดับ 2 อ้อย น้ำตาล ดังนั้น อย่าไปกังวลกลัวว่าจะทำไม่ได้ ต้องเชื่อว่าทำได้ แต่เราต้องร่วมกันเสนอ"

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ขณะที่โจทย์ใหญ่วันนี้ที่ได้มาหารือ คือ การยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่สร้างมูลค่าสูง ๆ ขณะเดียวกันก็ยกระดับระบบบริหารจัดการให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยหลักการแรก คือ มีความยั่งยืน เราจะก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Economy) ที่เราจะทำอย่างครบวงจร มองตลาด มองสินค้า และมองกระบวน การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกลับมาถึงต้นทาง คือ การพัฒนาเรื่องการเกษตร การปลูกอ้อย การดูแลพันธุ์อ้อย ให้มั่นใจว่า ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งกันได้ลงตัว เป็นธรรมกับทุกส่วน และส่วนของรายได้ ผลประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นนั้น มีความยั่งยืน ไม่ใช่เกิดแล้วล้นตลาด ซึ่งวันนี้โครงการ Bio Economy ก็เริ่มขึ้นแล้ว

โดยช่วงก่อนหน้านี้ ได้นำเสนอสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วว่า มีแผนที่จะดำเนินการเรื่องนี้ และจะไม่จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น อย่างในพื้นที่ภาคตะวันออกก็มีอยู่แล้ว เพราะมีฐานจาก ปตท. แต่มีข้อเสนอของภาคเอกชนร่วมกันว่า ยังมีพื้นที่อื่น ระยะแรกที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครสวรรค์ เป็นฐานสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย วันนี้จึงหารือกัน พร้อมตั้งโจทย์ว่า การเอาเรื่องเข้าสู่ ครม. นั้น เป็นเฟสแรก ส่วนเฟสต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้ จ.นครสวรรค์ และพื้นที่อื่น ๆ เข้าสู่เป้าหมายที่เราร่วมกันวางว่าจะเป็น Bio Hub Bio Economy ซึ่งคำว่า "Hub" เกิดจากอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าแค่เอาเทคโนโลยีมาผลิต แต่หมายถึงศูนย์กลางของการผลิตอ้อยและน้ำตาลที่จะก้าวพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ

นอกจากนั้น ภายหลังที่ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเปิดใจถึงแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรแล้ว กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งใน จ.นครสวรรค์ และตัวแทน จ.กาญจนบุรี ก็ได้กล่าวถึงปัญหาที่ยังรอให้รัฐบาลและ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาแก้ไข ด้วยว่า มีปัญหา 2 ข้อ คือ 1.เรื่องบรรทุกขนอ้อย ที่จำกัดความสูง ก็ขอให้ขนได้สูง 4 เมตร โดยจะพิจารณาลดความสูงครั้งละ 10 เซนติเมตร ก็ขอให้ชะลอไปก่อน 2.เรื่องรถเทรลเลอร์ หรือ รถลาก ที่ชาวบ้านกษตรกรต้องใช้ลากอ้อยจากพื้นที่ ขอให้ยังใช้ได้ต่อไป เพราะชาวบ้านมีฐานะยากจน การขนส่งรูปแบบอื่นจะลำบาก และที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดยนายอุตตม กล่าวยืนยันว่า ความเป็นไปได้ในการดูแลเกษตรกรนั้น ดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ ดูแลทุกนาที เมื่อถามว่า ร่างกฎหมายจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไม่ และจะให้คำมั่นได้หรือไม่ ว่า จะไม่ออกกฎหมายที่เอาเปรียบเกษตรกร นายอุตตมย้ำว่า เรื่องนี้เราดูแลในทิศทางที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกฤษฎีกา รัฐมนตรีเราดูแลตามระบบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ แต่จะให้ตอบวันนี้ยังไม่ได้ เพราะยังมีกระบวนการ

ด้าน นายอำนวย กลิ่นสอน เลขานุการสมาคมชาวไร่อ้อย กล่าวว่า การประชุมสามัญของสมาคมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสมาชิก 23,000 รายที่สังกัดสมาคม มีทั้งใน จ.นครสวรรค์ และพื้นที่นอกจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่ การประชุมเปิดให้เหล่าสมาชิกได้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน เพื่อสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับทราบและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

"เกษตรกรทุกคนยังคงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะเนื้อหาที่กำหนดไว้จะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ จากเดิมที่เราเคยเข้มแข็งมาได้ถึง 40 ปี ร่างนี้จะทำให้กลุ่มโรงงานได้ประโยชน์มากกว่า ก็ขอให้ได้พูดคุยกันก่อน และที่มาของคณะกรรมการบริหารในร่างกฎหมาย ก็ให้มาจากตัวแทนอย่างแท้จริง ซึ่งพวกเราเกษตรกรชาวไร่อ้อยขอขอบคุณ รมว.อุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้ได้แก้ปัญหาราคาผลผลิตให้อีก 50 บาทต่อตัน แต่ปัญหาเรื่องรถบรรทุกทั้ง 2 ข้อ ยังคงเป็นปัญหา รวมทั้งร่าง พ.ร.บ. ที่จะทำให้เราอ่อนแอลง ดังนั้น ขอรัฐมนตรีขอให้สัญญาประชาคมกับเกษตรกรวันนี้ด้วยว่าจะแก้ไขปัญหา หากยังไม่มีคำตอบเรา 2,000  คน จะเป็นตัวแทนจากสมาชิกกว่า  20,000 คน ไปถามหาคำตอบที่กระทรวงในวันที่ 15 พ.ย. นี้"

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว