องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หนุนกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วน!!

11 พ.ย. 2561 | 05:20 น.
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ สนับสนุนรัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

วันที่ 11 พ.ย. 61 - ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่า ยอมรับว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่ง และเป็นคนดี แต่ก็ปรากฎในข่าวสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า มีบางมหาวิทยาลัยที่มีการทุจริต เกื้อหนุนเกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตัวนายกสภามหาวิทยาลัย สร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาและงบประมาณของประเทศอยู่เช่นกัน ตรงนี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมาย สร้างมาตรการมากมายมาควบคุม ส่งผลให้คนดีได้รับความเดือดร้อนไปด้วย


1536568119948

"มีรายงานของ สกอ. ระบุว่า ปัญหาคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของไทย เริ่มตั้งแต่การซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการ อาจารย์ ที่อยากได้ตำแหน่งทางวิชาการ ต้องวิ่งเต้นเซ่นสาย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากได้โครงการ ทางสภามหาวิทยาลัยก็อนุมัติ พอสภามหาวิทยาลัยอยากได้งบประมาณ หรือ ไปดูงานต่างประเทศ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็อนุมัติให้เช่นกัน คือเรียกได้ว่า ผลัดกันเกาหลัง ประกาศของ ป.ป.ช.ชุดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. ต้องทำ และ ป.ป.ช. ได้ทำอย่างถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น คงต้องมาพิจารณาถึงข้อกังวลของแต่ละคนว่าคืออะไร ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้" ดร.มานะ กล่าว

ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน และตามประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ ทำให้มีผู้ต้องยื่นเพิ่มอีก 3,000 คน ที่รวมถึงองค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเอกชน เป็นพ่อค้า หรือ นักวิชาการด้วย แต่ขณะนี้มีเสียงโต้แย้งเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 81 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประมาณ 500 ท่าน ดังนั้น จึงอยากให้ทางกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของกฎหมายและเจ้าของเรื่องทำงานเชิงรุก คือ เดินสายไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยในจังหวัดต่าง ๆ ว่า ใครติดขัด ไม่เข้าใจอะไร และทำความเข้าใจกัน อะไรที่คิดว่าเป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ หรือ มีเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป กรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับทราบและแก้ไขทันที

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศสมาชิกพึงกระทำในเรื่องจริยธรรมของข้าราชการที่ต้องมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญและแผนการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันก็ระบุไว้ด้วย เพราะฉะนั้นใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อยากให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ

"ความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชันที่กำหนดมาตรการ เรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ทำกันมาตลอดในช่วงหลายปีก็จะสูญเปล่า ประชาชนก็จะเริ่มคิดว่า ชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนร่ำรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อออกกติกาแล้ว พอถึงเวลาไม่ชอบก็จะไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่เรากลัว และสิ่งที่จะตามมา ก็คือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ ก็จะเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด เลือกทำในสิ่งที่มีโอกาส ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ย้ำ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว