"อุบลฯพัฒนาเมือง" ยกระดับทางเศรษฐกิจ! ปั้นศูนย์การจ้างงานขนาดใหญ่อีสานตอนล่าง

11 พ.ย. 2561 | 03:54 น.
"อุบลราชธานีพัฒนาเมือง" พร้อมขับเคลื่อนตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งเป้ายกระดับทางเศรษฐกิจให้มีศักยภาพเป็นศูนย์การจ้างงานขนาดใหญ่ของอีสานล่าง รองรับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชากร 4.9 ล้านคน

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะอนุกรรมการยกร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร บริษัท อุบลราชธานีพัฒนาเมือง จำกัด ที่มี นายธีระชัย จึงวัฒนาภรณ์ ทำหน้าที่ประธาน และนายศิวัช ภูธนแสงทอง ทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการ โดยจังหวัดอุบลราชธานีและ บริษัท อุบลราชธานีพัฒนาเมือง จำกัด มีความพร้อมระดับสูงในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดในฐานะที่แผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้ จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดหลักของอีสานใต้ เป็นศูนย์กลางความเจริญ เพื่อพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจและการจ้างงานให้มีความแข็งแกร่ง ลดการอพยพแรงงาน สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้


ADBF0DA3-B0F5-435C-B600-D5FC69B83890

ทั้งนี้ แผนแม่บทยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้กำหนดให้ จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดหลัก โดยมี จ.มุกดาหาร เป็นจังหวัดรอง และมี จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดในกลุ่มศูนย์กลางกระจายความเจริญ มีเป้าหมายในการยกระดับทางเศรษฐกิจให้มีศักยภาพสูงสุดในการเป็นศูนย์การจ้างงานขนาดใหญ่ของอีสานล่าง รองรับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชากร 4.9 ล้านคน ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของผู้มีรายได้ระดับสูง 10 อันดับแรก กับผู้มีรายได้ระดับต่ำ 10 อันดับ จาก 22 ลงเหลือ 15 เท่า ภายใน 20 ปี หรือปี 2580

โดยแผนแม่บทฯ ได้กำหนดยกระดับ GPP ในแผน 20 ร้อยละ 6 ในทุกจังหวัดของกลุ่ม เฉพาะ จ.อุบลราชธานี นั้น GPP ควรจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 เนื่องจากแผนกำหนดให้มีศูนย์เศรษฐกิจและแหล่งงานมากถึง 6 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์เทศบาลนครอุบลราชธานี มีฐานะเป็นศูนย์พาณิชยกรรมเพื่อการค้าและบริการ, ศูนย์การศึกษาและเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง, ศูนย์พาณิชยกรรมอัจฉริยะแจระแม ในฐานะของเมืองใหม่อุบลราชธานี, ศูนย์อุตสาหกรรมสีเขียวอัจฉริยะบ้านเทิง ในฐานะเขตอุตสาหกรรมใหม่รองรับอุตสาหกรรมสำหรับ SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่, ศูนย์อุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารและผลิตภัณฑสมุนไพร เป็นศูนย์การแปรูปและการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อการส่งออก และศูนย์พาณิชยกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์วารินชำราบ ซึ่งศูนย์เศรษฐกิจดังกล่าวนี้จะสามารถเพิ่มการจ้างงานตามแผนระยะ 10 ปี ได้มากกว่า 5,000 อัตรา

ด้าน นายศิวัช กล่าวว่า บริษัทฯ ได้หารือเบื้องต้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจังหวัดจะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ บริษัท อุบลราชธานีพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพื้นที่พัฒนา การเตรียมคน ประการสำคัญได้หารือกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้ว ในการเตรียมความพร้อมเป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงของพื้นที่อีสานล่าง และได้มอบให้คณะเภสัชศาสตร์รับผิดชอบการขับเคลื่อนศูนย์อุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ในปี 2559 ระบุว่า ประชากรในกลุ่มอีสานใต้มีจำนวน 4,968,000 คน ผลิตภัณฑ์จังหวัดรวม (GPP) 316,474 ล้านบาท หรือเฉลี่ย GPP ต่อหัวเท่ากับ 63,706 บาท

บาร์ไลน์ฐาน