ทางออกนอกตำรา : ลุงตู่...จ๋าอย่าให้เสียของ สนช.ทำ "ภาษีที่ดิน" สิ้นลาย

10 พ.ย. 2561 | 13:48 น.

ไม่น่าจะเกินวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 กฎหมายหลายชั่วโคตร “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่ไปค้างอยู่ในรัฐสภามากว่า 2 ปีครึ่ง จะมีการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยจะกำหนดให้มีผลบังคับใช้จริง วันที่ 1 มกราคม 2563

เรียกว่า ยืดเวลาการบังคับใช้กฏหมายเก็บภาษีที่ดิน ทรัพย์สินจากนายทุน และคนรวย ออกไปให้ยาวที่สุด และน่าจะเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่รัฐบาลนี้ทำคลอด แต่ให้มีผลในรัฐบาลอื่น

ต้องบอกว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ที่ผลักดันกันมาเกือบ 30 ปี ผ่านมาถึง 12 รัฐบาลทำคลอดออกมาได้ ก็เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการลงไป

ถ้าปล่อยให้ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ประธานกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงบรรดากรรมาธิการที่เป็นนายทหารและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ทำกันเอง รับรองแท้ง ไม่มีทางคลอดออกมาเด็ดขาด

เพราะกฎหมายนี้มันกระทบกับ “คนที่มีอำนาจ มีพลัง คนมีเงิน มหาเศรษฐี” มากกว่ากระทบกับบรรดาเกษตรกร ชาวบ้าน ที่ถูกหยิบยกออกมาเป็นหลังพิงอ้างถึงความชอบธรรมในการบังคับใช้
สนช-1 สนช-2 สนช-3 อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ขอบอกผ่านไปยังประชาชน บรรดาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐบาลว่า โปรดพิจารณาสั่งการดีๆ ก่อนที่การออกกฎหมายฉบับนี้จะถูกตัดทอนจนไม่เหลืออะไรให้ท้องถิ่นนำมาบังคับใช้ นอกจากกฎหมายที่เป็นแค่ “กระดูกซี่โครง” เพราะเนื้อหาสาระและเป้าหมายใหญ่ที่เป็นไฮไลต์ถูก “กมธ.-สนช.นํ้าดีนํ้าดำ” ตัดทิ้งไปเสียจนหมด

ข้อมูลที่ผมได้รับจากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายบอกว่า ถึงตอนนี้มีการปู้ยี่ปู้ยำปรับลดอัตราเพดานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงหมดทุกประเภท จากที่รัฐบาลนายกฯลุงตู่ได้เสนอมาถึง 50-60% เพราะมีกรรมาธิการ และสนช.ยกเหตุมาอ้างว่า เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ผู้มีบ้านอาศัย ผู้ประกอบการเพื่อการพาณิชย์

สนช-4

ดูให้ดีนะครับ.....อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ครม.ลุงตู่เสนอมานั้น กำหนดเพดานสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมไว้ที่ 0.2% ถูกปรับลดลงเหลือแค่ 0.15% ...ยํ้านี่เป็นการเก็บภาษีจากการถือครองที่ดินของเกษตรกรนะครับ ลดลง 0.05%

อัตราเพดานภาษีที่อยู่อาศัยลดจาก 0.5% เหลือ 0.3% ลดลง 0.2%

อัตราภาษีที่ดินที่นอกเหนือจากเกษตรกรรม เช่น ที่ดินใช้เพื่อพาณิชย์/อุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่ผู้มีสตางค์ถือครอง รัฐบาลลุงตู่เสนอให้จัดเก็บไปที่ 2% ถูกสนช.-กรรมาธิการนํ้าดี-นํ้าดำ ปรับลดลงมาเหลือ 1.2% ลดลงไปถึง 0.8%

อัตราเพดานที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์รัฐบาลลุงตู่ เสนอให้จัดเก็บในอัตรา 2% โดยให้จัดเก็บเพิ่ม 0.5% ในทุก 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5% เหตุผลหลักเพื่อลดการถือครองและเร่งให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดปัญหาการเก็งกำไรจากราคาที่ดินจนคนจนไม่มีปัญญาซื้อหาที่ดินมาถือครองทำกินหรืออยู่อาศัย

แต่พ่อเจ้าประคุณทูนหัว สนช.และกรรมาธิการ ที่อ้างว่า ประชาชน นักธุรกิจ เดือดร้อน บรรดาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้องกันระงมได้ทำการปรับลดลงมาเหลือ 1.2% โดยให้ท้องถิ่นสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ 0.3% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3%

เพดานอัตราภาษีส่วนนี้ที่เป็น “หัวใจหลักของกฎหมาย” ถูกบรรดา สนช.ตัวดีและกรรมาธิการที่แปรญัตติของกฎหมายปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเฉพาะเนื้อภาษี 0.8% ลดเพดานเฉพาะที่ให้อำนาจท้องถิ่นอีก 0.2% และเพดานขั้นสูงลดลงให้ถึง 2%

จะให้แปล “ภาษาไทย” เป็น “ภาษาคนไท” มั้ยครับว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลนายกฯลุงตู่เสนอไปนั้น มีการปรับลดสาระและอัตราภาษีที่ดินเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลเศรษฐีคนมีเงิน ผู้ที่ถือครองที่ดินในประเทศจำนวนมหาศาล มากกว่าปรับลดภาษีให้กับเกษตรกรและประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียอีก
ภาษีที่ดิน-4
ปราชญ์โบราณเคยว่า นักการเมือง มักมองเห็นผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่รัฐบุรุษนั้นไซร้คือผู้ที่กล้าสร้างมาตรฐานเพื่อวางรากฐานของสังคมในอนาคต ผมไม่เคยเชื่อ...เพราะในบ้านเรามีแต่นักการเมืองที่ออกมาด่าทอรัฐบุรุษเสียไม่มีชิ้นดี ไม่ว่าจะเป็น อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

การมองเห็นผลเฉพาะหน้าโดยที่ไม่มีการวางรากฐานของบรรดานักการเมืองนั้น เป็นตัวทำลายรากฐานสังคมแค่ไหน เห็นได้จากการออกกฎหมายเก็บภาษีมรดกนั่นปะไร

ตอนร่างกฎหมายหลักการดีแสนดี แต่พอเข้าสภาไป สนช.ทำ คลอดออกมาต้องบอกว่า “ดีเสียจนไม่มีชิ้นดี” บรรดาเศรษฐีหนีกันไปหมดบ้านหมดเมือง เก็บภาษีมรดกได้น้อยนิดและริบหรี่

มาบัดนี้ถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีการรื้อสาระและไส้ในครั้งใหญ่ เพราะบรรดาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมฯ ออกโรงต้านจึงออกมาแบบนี้
ภาษีที่ดิน-3 ที่ดินเกษตรกรรมมีเพดานจัดเก็บ 0.15% มีอัตราการจัดเก็บแบ่งเป็น 5 ขั้น คือ มูลค่า 0-75 ล้านบาท อัตราจัดเก็บ 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท จัดเก็บ 0.07% มูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท จัดเก็บ 0.1%

ส่วนบุคคลธรรมดายกเว้นในส่วนไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษี 10,000 บาท/ปี ที่ดินมูลค่า 200 ล้านบาท เสียภาษี 60,000 บาท/ปี

บ้านพักอาศัย เพดานจัดเก็บ 0.3% การจัดเก็บแบ่งเป็น 4 ขั้น คือ บ้าน 0-50 ล้านบาท จัดเก็บ 0.02% บ้านราคา 50-75 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% บ้านราคา 75-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05% และบ้านราคา100 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บ 0.1% เท่ากับว่าบ้านราคา 100 ล้านบาท เสียภาษี 20,000 บาท/ปี

ที่ดินอื่นพาณิชยกรรมมีเพดานจัดเก็บ 1.2% จัดเก็บแบ่งเป็น 5 ขั้น คือ 0-50 ล้านบาท อัตราจัดเก็บ 0.3% ราคา50-200 ล้านบาท เก็บ 0.4% ราคา 200-1,000 ล้านบาท จัดเก็บ 0.5% ราคา 1,000-5,000 ล้านบาท จัดเก็บ 0.6% ราคา 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 0.7%

ภาระภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 50 ล้านบาท อยู่ที่ 150,000 บาท/ปี ราคา 100 ล้านบาท อยู่ที่ 350,000 บาท/ปี มูลค่า 500 ล้านบาท อยู่ที่ 2.25 ล้านบาท/ปี
ภาษีที่ดิน-2
ภาษีที่ดิน-1 ใช่เพราะบรรดา กรรมาธิการ และสนช.เองก็ถือครองที่ดินจำนวนมหาศาล หรือไม่ ไม่รู้ แต่คนเขาว่า กมธ.แปรญัตติกฎหมายแต่ละคนไล่ จาก พล.อ.กิตติ
อินทสร 17 ล้านบาท พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร 41 ล้านบาท พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 79 ล้านบาท พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง 59 ล้านบาท ชาญวิทย์ วสยางกูร 22 ล้านบาท พล.อ.อ.ชูชาติ บุญชัย 12 ล้านบาท พล.ร.อ. ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ 13 ล้านบาท

พล.ร.อ. ธราธร ขจิตสุวรรณ 37 ล้านบาท พล.อ. ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ 19 ล้านบาท พ.ต.ท. พงษ์ชัย วราชิต133 ล้านบาท

พล.อ. ยอดยุทธ บุญญาธิการ 14.5 ล้านบาท พล.ร.อ. ยุทธนา ฟักผลงาม 40 ล้านบาท พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร 32 ล้านบาท พล.ร.อ. ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง 15.6 ล้านบาท พล.อ. สุรวัช บุตรวงษ์ 50 ล้านบาท สุวรรณี สิริเวชชะพันธุ์ 617 ล้านบาท อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ 54 ล้านบาท

สุดท้ายปลายทางกฎหมายภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่มีการทำคลอดออกมาจึงเห็นถึงความเดือดร้อนของคนถือครองที่ดินมหาศาล มากกว่าเน้นการกำหนดเพดานภาษีเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

ทางออกในการสร้างกติกาประเทศไทยจึงมีแต่ทางตัน

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย..บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3417 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1111-14 พ.ย.2561
595959859