ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวน ท่ามกลางปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ

01 มี.ค. 2559 | 03:11 น.
ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการเจรจาระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังไร้ข้อสรุป

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์น้ำมันดิบ (29 ก.พ. - 4 มี.ค. 59) โดย บมจ. ไทยออยล์

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 27 – 34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 30 – 37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ก.พ. - 4 มี.ค. 59)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนอย่างต่อเนื่องโดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังโรงกลั่นในภูมิภาคเริ่มปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลและลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเจรจาเพื่อคงกำลังการผลิตที่ระดับปัจจุบันของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังไม่มีข้อสรุป หลังอิหร่านยังไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงตามปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหลังตัวเลขสิ้นสุด ณ วันที่ 19 ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.5 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 507.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามฤดูกาลและมีการลดกำลังการผลิตหลังค่าการกลั่นปรับลดลงค่อนข้างมาก ประกอบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอาจเต็มพื้นที่จัดเก็บถังน้ำมันดิบ ณ จุดส่งมอบในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเก็บน้ำมันดิบบนเรือ (Floating Storage) เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันนี้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคิดเป็นกว่าร้อยละ 89 ของความจุของพื้นที่จัดเก็บถังน้ำมันดิบ

-การประชุมนัดพิเศษระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกและรัสเซียที่จะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่จะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับการผลิตของเดือนมกราคม หลังที่ผ่านมาผลของการเจรจาไม่คืบหน้าเนื่องจากอิหร่านยังคงไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าต้องการเพิ่มปริมาณส่งออกให้กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนที่จะถูกคว่ำบาตรเพื่อฟื้นรายได้ให้กับประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าอิหร่านมีการเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบมาอยู่ที่ราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม

-ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ หลังนักวิเคราะห์คาดดัชนีภาคการผลิตจีนในเดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.3จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.4 ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องกว่า 7 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่ภาวะอุปทานยังคงล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้นำของประเทศจีนส่งสัญญาณว่าจะคงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับการเจริญเติบโตของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

-ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 ก.พ. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในช่วงต้นปีนี้ที่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ผู้ผลิตปรับลดงบลงทุน (CAPEX) และลดปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ 413 หลุม โดยรายงานล่าสุดของ IEA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ และจะปรับลดลงอีก 200,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดจะเริ่มปรับลดลงและเป็นแรงหนุนให้ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวขึ้นได้

-ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีน ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกยูโรโซน อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และจำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ก.พ. 59)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 3.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 32.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 2.09 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 35.10 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อปัญหาน้ำมันดิบล้นตลาด หลังจาก รมว.กระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียระบุว่าซาอุฯ ยังไม่มีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น สู่ระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 500 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิคในการขนส่งน้ำมันดิบจากทะเลเหนือมายังเอเชีย ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ