'อินเดีย' ส่งออก 'นำ้ตาล' มีรัฐอุดหนุน! เขย่าราคา ขาใหญ่นั่งไม่ติด

10 พ.ย. 2561 | 00:49 น.
| รายงานพิเศษ |

โลกจับตา "อินเดีย" ตัวแปร ทุบราคาน้ำตาลผันผวน

... กำลังเป็นที่จับตากันอีกครั้ง สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลในตลาดโลก ที่โยงมาถึงประเทศไทยด้วย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญเบอร์ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล

ที่โลกต้องจับตา! เพราะรัฐบาลอินเดียออกมาประกาศชัดเจนว่า จะอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลในประเทศของตัวเอง แค่อินเดียเขย่าด้วยคำประกาศ ยังไม่ถึงขั้นส่งออกน้ำตาลมาตีตลาดโลกแบบเต็มหมัด ก็ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบผันผวน ปีนี้ยืนอยู่ในเพดาน 11-13 เซ็นต์ต่อปอนด์

อุตสาหกรรมน้ำตาลเกี่ยวข้องกับทุกคน ทั้งในแง่ภาคครัวเรือน ผู้ค้าขายน้ำตาล โรงงานผลิตน้ำตาล ชาวไร่อ้อย อุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร เมื่อราคาน้ำตาลผันผวน ก็ต้องเจ็บตัวรับความเสี่ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะราคาน้ำตาลไม่นิ่ง

หากจำกันได้ ไม่นานมานี้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วว่า "อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยผนึกพันธมิตรร้อง WTO อินเดียผิดกฏ" เป็นการรวมกลุ่มกันออกมาเรียกร้อง WTO โดยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการ ส่งออกนํ้าตาลทราย จํานวน 5 ล้านตัน หลังจากรัฐบาลอินเดียอนุมัติงบกว่า 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งนํ้าตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ซึ่งขัดกับข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดนํ้าตาลโลก

การอุดหนุนส่งออกของอินเดียในครั้งนี้ ส่งผลให้ราคานํ้าตาลในตลาดโลกลดลงถึง 36% ตํ่าสุดในรอบ 10 ปี และอยู่ในระดับตํ่ากว่าต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง อย่าง 3 ผู้เล่นรายใหญ่ บราซิล ออสเตรเลีย และไทย


อินเดียมาแรงรัฐบาลอุดหนุนส่งออก
ปัจจัยเสี่ยงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลมองว่าจะเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนในเวลานี้ กลับกลายเป็นว่า เกิดจากกรณีที่รัฐบาลอินเดียออกมาอุดหนุน และพร้อมที่จะกระจายน้ำตาล จำนวน 5 ล้านตัน ออกมาทุ่มในตลาดโลกได้ทันทีที่ราคาน้ำตาลทรายดิบขยับจาก 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ไต่ไปที่ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์

ปัจจุบัน ราคาน้ำตาลทรายดิบยืนอยู่ที่ระดับ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยราคาลดลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบัน จากที่ก่อนหน้านั้น ราคาน้ำตาลทรายดิบแต่ละปีเฉลี่ยเกิน 15 เซ็นต์ต่อปอนด์

อีกทั้งเป็นเรื่องความต้องการของดีมานด์ซัพพาย สำหรับในประเทศไทยมีการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 2.5 ล้านตันน้ำตาล ซึ่งบริโภคอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องมา 2 ปี ทั้งที่เศรษฐกิจรวมเติบโต ระดับการบริโภคน้ำตาลก็น่าจะเติบโตด้วย ขณะที่ อัตราการบริโภคน้ำตาลโลกก็เติบโตลดลง จากที่ปกติเติบโต 2% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อบราซิลมีผลผลิตลดลง ตามหลักจะต้องทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น แต่มาเจอแรงกดดันจากอินเดีย ทำให้ราคาน้ำตาลยังไม่ขยับ!


13 พ.ย. นี้ ออสเตรเลียจ่อตอบโต้อินเดีย
จากกรณีดังกล่าวดูเหมือนว่า ออสเตรเลีย 1ใน 3 ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำตาล ร้อนรนที่สุดกับปัญหานี้ เพราะออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่มีต้นทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถ้ามีผู้เล่นรายใดออกมาตีตลาดในราคาขายต่ำกว่า 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ออสเตรเลียเสียเปรียบทันที ทำให้ล่าสุด เตรียมยื่นเอกสารตอบโต้ (Counter Notification Notice) เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดีย ในวันอังคารที่ 13 พ.ย. 2561 ต่อ WTO เพื่อขอให้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเกษตร WTO ในการประชุมวันที่ 25-26 พ.ย. 2561 โดยให้ข้อคิดเห็นประกอบในเอกสาร 3 ประการ คือ

1.ตามข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร (AoA) อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถดำเนินมาตรการสนับสนุนด้านราคาตลาดได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิต

2.นับตั้งแต่ปีการผลิต 2013 ถึงปี 2014 อินเดียใช้มาตรการอุดหนุนเกินกว่า 90% ของมูลค่าผลผลิต ซึ่งขัดกับพันธกรณีที่ผูกพันไว้


อินเดียตาราง1

3.อินเดียไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง เนื่องจากไม่ได้ระบุอ้อยอยู่ในรายการสินค้าที่ขอผูกพันการอุดหนุนภายใน (Domestic support) ตั้งแต่ปีการผลิต 1995


3 สมาคมฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐ ให้หนุนออสเตรเลียอีกแรง
ด้านปฎิกิริยาจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งประกอบด้วย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล แจ้งว่า เตรียมทำหนังสือถึงเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้การสนับสนุนออสเตรเลียในการยื่น Counter Notification Notice เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดีย เนื่องจากเห็นว่า มาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลงต่ำกว่า 10 เซนต์/ปอนด์ ในช่วงเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ ระดับราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 12-13 เซนต์/ปอนด์ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 15-20 เซนต์/ปอนด์

ทั้งนี้ ล่าสุด ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายออสเตรเลีย ในฐานะฝ่ายเลขานุการของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance : GSA) ออกมายืนยันว่า ได้แจ้งมายัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ว่า คณะผู้แทนถาวรออสเตรเลีย ประจำองค์การการค้าโลก จะยื่น Counter Notification Notice เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายของอินเดีย ในวันอังคารที่ 13 พ.ย. 2561 ต่อ WTO

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ราคาน้ำตาลทรายดิบผันผวนครั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงปัญหาเดิม ๆ เช่น กรณีที่มีปริมาณน้ำตาลโลกสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้ของโลก หากย้อนไปดูผลผลิตนํ้าตาลในตลาดโลกปี 2560/2561 มีจำนวน 193.08 ล้านตันนํ้าตาล แต่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกอยู่ที่ 183.67 ล้านตันนํ้าตาล ขณะที่ ปี 2561/2562 ปริมาณนํ้าตาลของโลกจะไต่ระดับสูงขึ้นไปถึง 192.24 ล้านตันนํ้าตาล เทียบกับความต้องการใช้นํ้าตาลในโลกอยู่ที่ 186.37 ล้านตันนํ้าตาล และจากที่ปริมาณนํ้าตาลในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นนี้ ทำให้เกิดสต๊อกนํ้าตาลโลกส่วนเกินเกิดขึ้น ซึ่งอินเดียก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้น้ำตาลในสต๊อกพุ่ง


อินเดียตาราง2

ข้อมูลจาก F.O.licht บริษัทวิจัยในเยอรมนี ระบุว่า ฤดูการผลิตปี 2560/2561 (ช่วง 1 ต.ค. 60 - 30 ก.ย. 61) มีปริมาณนํ้าตาลในสต๊อกโลกที่เป็นส่วนเกินอยู่จำนวน 7.2 ล้านตันนํ้าตาล นับว่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มว่า ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 จะมีปริมาณนํ้าตาลโลกเกินต่อเนื่อง


สถานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 3 ราย
สำหรับสถานะของ 3 ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ไล่เรียงตามลำดับตั้งแต่ บราซิล ปี 2560/2561 มีปริมาณอ้อยราว 650 ล้านตันอ้อย ในจำนวนนี้นำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเพียง 48% และนำไปผลิตเอทานอล 52% ปี 2561/2562 คาดการณ์ว่าจะนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลน้อยลงกว่าเดิม หรือราวสัดส่วน 32% และ 68% นำไปผลิตเอทานอล โดยสัดส่วนจะปรับเปลี่ยนไปตามราคาขายที่ดีกว่า ส่วนประเทศไทย ปี 2560/2561 มีปริมาณอ้อยจำนวน 134.9 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 14.6-14.7 ล้านตันน้ำตาล ปี2561/2562 มีปริมาณอ้อยจำนวน 126 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณน้ำตาล 13.5-13.6 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะส่งออกได้ราว 10-11 ล้านตันน้ำตาล ส่วนออสเตรเลียมีผลผลิตน้ำตาลราว 4 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ส่งออก 3 ล้านตันต่อปี ที่เหลือใช้ภายในประเทศ


กองน้ำตาล

ยังต้องจับตาการเคลื่อนไหวของ "อินเดีย" ในการระบายน้ำตาลออกนอกประเทศ เพราะถือเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งมีการผลิตเพื่อส่งออกได้ไม่นาน จากที่ผ่านมาอินเดียผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศเกือบทั้งหมด และในช่วง 2 ปีหลังมานี้ อินเดียมีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดภายในประเทศ และกำลังเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญทุบราคาน้ำตาลโลกให้ผันผวนต่อเนื่องอย่างน่าจับตามอง

อินเดียอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลของโลกรายใหญ่ลำดับที่ 3 แทนที่ออสเตรเลียก็อาจเกิดขึ้นได้!

595959859