สถานีกลางบางซื่อยกระดับเป็นศูนย์คมนาคมแห่งอาเซียน

16 พ.ย. 2561 | 09:49 น.
ยังคงมีความคืบหน้าให้ได้ติดตามสำหรับเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่อย่าง “สถานีกลางบางซื่อ” โดยล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม SAPPHIRE 101 ฮอลล์ 9 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้เปิดบรรยายพิเศษใน “งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561” โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการร.ฟ.ท. หัวข้อ “การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเพื่อเป็นศูนย์คมนาคมของประเทศ”

ทั้งนี้โครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยร.ฟ.ท. ถูกออกแบบให้เป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มาตรฐานเทียบเท่ากับศูนย์กลางสถานีรถไฟระดับโลก เพื่อรองรับระบบขนส่งคมนาคมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ

เกาติด3417

โดยภายในอาคารสถานีกลางบางซื่อ มีขนาดกว้าง 244 เมตร ยาว 596 เมตร สูงประมาณ 43 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 264,862 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 2 ล้านคนต่อวัน ตัวอาคารสถานีมี 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นลานจอดรถรองรับได้กว่า 1,700 คัน ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีนํ้าเงิน และจุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. และบขส. ชั้น 2 เป็นชานชาลารถไฟสายต่างๆ รวมทั้งหมด 24 ชานชาลา เป็นชานชาลารถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลทุกเส้นทาง 8 ชานชาลา ชั้น 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ 2 ชานชาลา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2564

นอกจากนี้ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธินพื้นที่รวม 2,325 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นย่านธุรกิจสำคัญของประเทศ ช่วยสนับสนุนการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับอาเซียน” ซึ่งพื้นที่โดยรอบประกอบด้วยแผนพัฒนา 9 แปลงได้แก่ แปลง A ศูนย์ธุรกิจทันสมัย เน้นที่โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานและพื้นที่ใช้งานร่วม แปลง B ศูนย์การพาณิชย์และธุรกิจแห่งอาเซียน แปลง C ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ แปลง D พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยอาจคงรูปแบบตลาดจตุจักรไว้ตามเดิม แต่พัฒนาให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น แปลง E ศูนย์ราชการ แปลง F ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า แปลง G พัฒนาพื้นที่พักอาศัย แปลง H พื้นที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน และแปลง I พัฒนาพื้นที่พักอาศัย

[caption id="attachment_345166" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ทั้งนี้มีการแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (เสร็จสมบูรณ์ในปี 2565) ได้แก่ แปลง A แปลง E และแปลง D ระยะกลาง (เสร็จสมบูรณ์ในปี 2570) ได้แก่ แปลง C แปลง F และแปลง G ระยะยาว (สมบูรณ์ในปี 2575) ได้แก่ แปลง B แปลง D2-4 แปลง H และแปลง I

สถานะปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ได้มีการประชุมเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุน(มาร์เก็ตซาวดิ้ง) ครั้งที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการพัฒนาที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ เนื้อที่ 32 ไร่ โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ นักลงทุน สมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมและแสดงความสนใจกว่า 200 ราย โดยมีแผนเปิดประมูลในเดือนมกราคม 2562 นี้

หน้า12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,417 วันที่ 11 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859